May 3, 2010

รัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ ตอนที่ ๒ (ระบบการปกครอง)

ผศ.มานพ นักการเรียน
ความนำ

มนุษย์ในสังคมหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่มีความเชื่อ แนวคิด อุปนิสัย ทัศนคติและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มารวมกันอยู่ภายในอาณาเขตเดียวกัน จึงทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องหาการปกครองที่เหมาะสมมาใช้ในสังคม เพื่อให้สังคมนั้น ๆ ดำเนินไปได้ด้วยดี คือมีความสงบเรียบร้อย มีความยุติธรรม มีความสามัคคี ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม หากสังคมที่มีความแตกต่างกันอย่างหลากหลาย ไม่มีการนำการปกครองที่เหมาะสมมาใช้แล้ว ก็อาจทำให้สังคมนั้นประสบกับความสับสนยุ่งเหยิง เกิดความแตกแยก แย่งชิงผลประโยชน์ตามมา อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่เห็นได้ในสังคมต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้

การปกครองที่เหมาะสมจึงเป็นที่ต้องการของทุก ๆ สังคม เพราะข้อนั้นถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ได้มาซึ่งการมีเสถียรภาพทาง สังคมและการนำสังคมไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ความผาสุก การบริหารและการปกครองของสังคมในอดีตมีความสัมพันธ์กับศาสนาอย่างใกล้ชิด มีการพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน ศาสนาจึงเป็นที่มาของอุดมการณ์รูปแบบเดียว เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการธำรงรักษาความชอบธรรมของการปกครองและการยอมรับ ของประชาชนที่มีต่อผู้ปกครอง

พระพุทธศาสนาทั้งที่เป็นส่วนพระธรรม คือคำสอน และพระวินัย คือ คำสั่ง มีคุณค่าต่อการปกครอง ทั้งในด้านการปกครองตนเอง การปกครองหมู่คณะและการปกครองประเทศหรือสังคมโดยส่วนรวมตลอดจนมีการปกครอง โลกอยู่มาก กล่าวคือ มุ่งส่งเสริมให้บุคคลหมั่นสำรวจ ฝึกฝน ปรับปรุง เคารพ ควบคุม บังคับภายในคือจิตใจ เชื่อมั่นรับผิดชอบต่อตนเอง เป็นการปกครองตนเอง รู้จักธรรมชาติและความต้องการของผู้อื่น ใช้พระคุณควบคู่กับการใช้พระเดช เป็นการปกครองหมู่คณะและปกครองประเทศหรือสังคมโดยส่วนรวม ตลอดมีการใช้ธรรมเป็นโลกบาล คือหิริและโอตตัปปะ ซึ่งเป็นการปกครองโลก

สังคมไทยได้รับอิทธิพลคำสอนของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการบริหารและการ ปกครอง โดยเฉพาะที่นำมาจากคัมภีร์ชาดก เช่น ทศพิธราชธรรม พละ ๕ ของกษัตริย์ เว้นจากอคติ ๔ ซึ่งเป็นธรรมของพระราชา ผู้นำ ผู้ปกครองโดยตรง ราชวสดีธรรม ๔๙ ประการ ซึ่งเป็นธรรมของข้าราชการ เมื่อมองในแง่รัฐศาสตร์ ก็คือหลักแห่งการบริหารและการปกครองกายและใจ ซึ่งเมื่อนำปฏิบัติตามแล้วจะทำให้ชีวิตดำเนินไปในแนวทางที่ถูกต้องและก่อให้ เกิดประโยชน์สุขแก่ตนเองและสังคม


ระบบการปกครองของตะวันตก

ในทางรัฐศาสตร์ อาจแบ่งระบบการปกครองออกเป็น ๒ ระบบ คือ
๑. การปกครองระบบเผด็จการ (Dictatorship) หมายถึง ระบบการปกครองที่รัฐมีอำนาจปกครองเหนือประชาชน ดังนั้น บุคคลเดียวหรือคณะบุคคลใดก็ตามที่ได้อำนาจ ทั้งนี้เนื่องจากจุดมุ่งหมายของการปกครองระบบเผด็จการเน้นที่ผลประโยชน์ของ รัฐซึ่งมาจากการกำหนดการปกครองของรัฐบาลซึ่งได้อำนาจรัฐนั่นเอง ประชาชนมีหน้าที่ที่ต้องกระทำตามคำสั่งของรัฐบาลก็เพื่อผลประโยชน์ส่วนร่วม กันของรัฐนั่นเอง
การปกครองระบบเผด็จการแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑.๑ ระบบเผด็จการแบบอำนาจนิยม (Authoritarianism) หมายถึง รัฐบาลที่มุ่งใช้อำนาจปกครองเหนือประชาชน โดยรวมอำนาจทางการเมืองในส่วนที่สำคัญทั้งหมดหรือบางส่วนเข้าควบคุมกิจกรรม ทางการเมือง ต้องการให้ประชาชนเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลโดยเคร่งครัด แต่ประชาชนยังมีสิทธิและเสรีภาพตามสมควร สถาบันในสังคมต่าง ๆ เช่น ครอบครัว ศาสนา การศึกษา ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างปกติตราบเท่าที่สถาบันนั้น ๆ มิได้ขัดแย้งกับคำสั่งของรัฐบาลเผด็จการในกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น ตัวอย่างของระบบเผด็จการแบบนี้ เช่น ฟาสซิสต์ นาซี สมบูรณาญาสิทธิราชย์
๑.๒ ระบบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) หมายถึง รัฐบาลที่มุ่งเข้าควบคุมอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของปัจเจกชนอย่างเต็มที่และกว้างขวาง ปัจเจกชนและสถาบันจะต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐโดยรัฐบาลเป็นตัวแทนใน การใช้อำนาจรัฐ ผู้ใดจะขัดแย้งมิได้ มิฉะนั้นจะต้องถูกรัฐลงโทษอย่างรุนแรง ตามความหมายนี้ เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จมุ่งควบคุมพฤติกรรมของปัจเจกชนอย่างกว้างขวางและไม่ยอม รับความเชื่อว่ามีปรัชญาทางการเมืองอื่นใดที่จะดีกว่าความเชื่อแบบนี้ ตัวอย่างของเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ เช่น มาร์กซิสม์

๒. การปกครองระบบประชาธิปไตย (Democracy) เน้นถึงการปกครองโดยประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง ดังอับราฮัม ลินคอล์น กล่าวไว้ว่า เป็น “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” การเมืองแบบประชาธิปไตยเน้นที่การปกครองที่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของ บุคคล โดยต้องการให้ประชาชนปกครองตนเองอย่างกว้างขวาง โดยถือว่า “การปกครองที่ดีที่สุดก็คือการปกครองที่น้อยที่สุด” ดังนั้นหลักการของประชาธิปไตยจึงเน้นหลัก ๕ ประการ คือ
๒.๑ หลักเสรีภาพ (Liberty) หมายถึง สิทธิ (Right) หน้าที่ (Duty) และอิสรภาพ (Freedom) ซึ่งทั้ง ๓ ประการมีอยู่ด้วยกัน โดยจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมิได้
๒.๒ หลักความเสมอภาค (Equality) หมายถึง ความเท่าเทียมของบุคคลในฐานะเป็นพลเมืองของรัฐ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในสถานภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
๒.๓ หลักเหตุผล (Rationality) หมายถึง การตัดสินความขัดแย้งใด ๆ จะต้องใช้เหตุผลเสมอ มิใช่เน้นการใช้กำลังในการตัดสิน ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงเน้นที่วิธีการสันติวิธี ก่อนการใช้กำลังตัดสิน เพราะเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผลอันเป็นคุณความดีในสภาวธรรมชาติของ มนุษย์
๒.๔ การตัดสินโดยเสียงข้างมาก(Majority Rule and Minority Right) แต่เสียงข้างน้อยก็ได้รับการคุ้มครอง หมายถึง การตัดสินความขัดแย้งใด ๆ หลังจากที่ได้ใช้เหตุผลอภิปรายกันแล้ว จะต้องออกเสียงชี้ขาดโดยถือเอาสียงข้างมากเป็นเกณฑ์การตัดสิน แต่มิได้หมายความว่า เมื่อเสียงข้างมากชนะแล้วก็จะไปรังแกเสียงข้างน้อยเขาหาได้ไม่ เสียงข้างน้อยจะต้องได้รับเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกับเสียงข้างมาก ทุกประการ เพียงแต่การชี้ขาดกระทำด้วยวิธีการของเสียงข้างมากเท่านั้น
๒.๕ การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดำรงตำแหน่ง (Rotation) หมายความว่า ตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องมีกำหนดระยะเวลาที่จำกัดแน่นอน เช่น ๔ ปี ๖ ปี ก็เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นได้เข้ามาบริหารในตำแหน่งนั้น ๆ บ้าง แม้ว่าบุคคลนั้น ๆ จะเป็นผู้มีความสามารถและประชาชนยอมรับก็ตาม ในหลักการประชาธิปไตยจะต้องสร้างและพัฒนาบุคคลอื่นมาแทน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการที่ว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยคนส่วนมาก มิได้ผูกขาดเพียงบุคคลคนเดียวหรือกลุ่มเดียวกัน นอกจากนี้ ประชาธิปไตยยังต่อต้านระบบการสืบทายาทในการดำรงตำแหน่งที่มิได้มาจากการ เลือกตั้งอีกด้วย ในระบบนี้การเลือกตั้งจึงเป็นหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งด้วย


ระบบการปกครองของพระพุทธศาสนา



๑. ผู้ปกครองสำคัญกว่าระบบการปกครอง


ระบบการปกครองในคัมภีร์ชาดกคือเผด็จการแบบอำนาจนิยม (Authoritarianism) แต่ไม่ใช่เผด็จการแบบอำนาจนิยมดังที่เข้ากันในทางรัฐศาสตร์ เพราะยังคำนึงถึงเสียงของประชาชน และยึดถือธรรม ความถูกต้อง ความดีงามเป็นหลัก ให้ความสำคัญแก่ผู้ปกครองมากกว่าระบบการปกครอง คือผู้ปกครองต้องประกอบไปด้วยธรรมสำหรับการบริหารและการปกครอง เช่น ทศพิธราชธรรม พละ ๕ ของกษัตริย์ เว้นจากอคติ ๔ เมื่อผู้ปกครองประพฤติตามธรรมดังกล่าว ย่อมเกิดผล คือประชาชนเป็นสุข (ปชาสุขํ)

แม้ว่ากษัตริย์จะมีอำนาจมากเพียงใดก็ตาม แต่กษัตริย์ต้องฟังเสียงของประชาชนด้วย ดังปรากฏในเวสสันดรชาดก พระเวสสันดรซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นพระโอรสของพระเจ้าสญชัยกษัตริย์เมืองสี พีทรงประทานช้างปัจจัยนาค ซึ่งเป็นช้างคู่บ้านคู่เมืองให้แก่พวกพราหมณ์ต่างเมืองทั้ง ๘ คน ที่มาขอช้างคู่บ้านคู่เมือง ทำให้ประชาชนเมืองสีพีทั้งหลายโกรธเป็นอันมาก พากันมาเข้าเฝ้าพระเจ้าสญชัยทูลให้ขับไล่พระเวสสันดรออกนอกเมือง ซึ่งพระเจ้าสญชัยก็ต้องทำตาม ดังมีข้อความที่ชาวเมืองสีพีทูลแก่พระเจ้าสัญชัยว่า “พระองค์อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพระเวสสันดรนั้นด้วยท่อนไม้หรือศัสตราเลย ทั้งพระเวสสันดรนั้นก็ไม่ควรแก่เครื่องพันธนาการ แต่จงทรงขับไล่พระเวสสันดรเสียจากแว่นแคว้น จงไปอยู่ที่เขาวงกตเถิด”

ต่อมา พระนางผุสดีซึ่งเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสญชัยจะทัดทาน แต่พระเจ้าสญชัยก็ไม่ทรงยินยอม เพราะทรงรับฟังเสียงประชาชน ดังที่ปรากฏในเวสสันดรชาดกว่า
“ข้าแต่มหาราช เพราะฉะนั้น เกล้ากระหม่อมฉันขอกราบทูลพระองค์ว่า ประโยชน์อย่าได้ล่วงพระองค์ไปเสียเลย ขอพระองค์อย่าทรงขับไล่พระราชโอรสผู้ไม่มีความผิด เพราะถ้อยคำของชนชาวสีพีเลย”
“เราทำความยำเกรงต่อพระราชประเพณี จึงขับไล่พระราชโอรสผู้เป็นชาวสีพี เราจำต้องขับไล่ลูกของตน ถึงแม้จะเป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา”

เพื่อความชัดเจน จึงขอนำอธิปไตย ซึ่งเป็นเรื่องรูปแบบการปกครองดังที่ปรากฏในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค มาเสนอไว้ด้วย
๑. อัตตาธิปไตย ความมีตนเป็นใหญ่ ถือเอาความคิดเห็น ผลประโยชน์ ฐานะ ศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของตนเองเป็นใหญ่ เทียบเคียงได้กับรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการ (Dictatorship)
๒. โลกาธิปไตย ความมีโลกคือสังคมเป็นใหญ่ ถือเอาความคิดเห็นของคนเป็นจำนวนมากเป็นใหญ่ เทียบเคียงได้กับรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย (Democracy)
๓. ธัมมาธิปไตย ความมีธรรมเป็นใหญ่ ถือเอาหลักการ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผลเป็นใหญ่

พระพุทธศาสนาถือว่า การปกครองไม่ว่าระบบใด ขอให้ผู้ปกครองเป็นผู้ประพฤติธรรม เป็นอันยอมรับได้ ในตัวรูปแบบการปกครอง มีความเป็นไปได้น้อยมากที่อัตตาธิปไตยและโลกาธิปไตยจะนำไปสู่ความถูกต้องดี งามได้อย่างได้อย่างสมบูรณ์เพราะการปกครองเต็มไปด้วยอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งยั่วยวนใจคนให้เปลี่ยนนิสัยไปในทางมีความโลภ ความโกรธและความหลง ขาดการตรวจสอบมากยิ่งขึ้น

เป็นที่ยอมรับกันในบรรดานักรัฐศาสตร์ทั้งหลายว่า บรรดาสิ่งยั่วยวนทั้งหลายนั้น อำนาจย่อมยั่วใจได้มากและรวดเร็ว อำนาจสามารถเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยและทำให้การพิจารณาไม่เที่ยงแท้ ทำให้คนซึ่งมีความเมตตากรุณากลายเป็นคนโหดร้าย ดังที่ลอร์ด แอคตัน ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า “อำนาจมักทำลายตัวเองและอำนาจสูงสุดทำลายตัวเองอย่างที่สุด (Power corrupts ; Absolute power corrupts absolutely.)”

แต่ในปัจจุบันนี้ ไม่มีเกณฑ์เลยว่า ผู้ปกครองควรมีธรรมอะไรบ้าง เป็นแต่ผ่านกระบวนการหรือผ่านระบบทางการเมืองก็ถือว่าถูกต้อง อาจหวังไม่ได้ว่า ผู้ปกครองในปัจจุบันจะมีคุณสมบัติอย่างที่พระพุทธองค์ทรงกำหนด แต่อย่างน้อย ถ้าคุณสมบัติเช่นนั้นเป็นคุณสมบัติที่เป็นอุดมคติก็น่าจะนำมาใช้วัดได้ว่า ผู้ปกครองเข้าใกล้อุดมคติเพียงใด ยังหย่อนในข้อใด

๒. ความสำคัญของผู้ปกครอง

ในทรรศนะของคัมภีร์ชาดก พระราชาหรือกษัตริย์มีความสำคัญมิใช่เป็นเพียงผู้นำในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดของสังคม เป็นแกนให้เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ เป็นศูนย์กลางสุริยจักรวาล แม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เช่น ความวิปริตทางดินฟ้าอากาศ ทุพภิกขภัย หรือภัยพิบัติต่าง ๆ ก็เชื่อว่าอยู่ในความรับผิดชอบของกษัตริย์หรือพระราชาด้วย

ในทางรัฐศาสตร์ก็ถือว่า กษัตริย์หรือพระราชามีความสำคัญในฐานะเป็นประมุขแห่งรัฐ แม้ว่าในปัจจุบัน จะมีรูปแบบประมุขของรัฐแบบใหม่ คือประธานาธิบดีเป็นประมุขตามวิวัฒนาการทางการเมืองก็ตาม

ผู้นำหรือผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำพาประชาชน (พลเมือง) และประเทศชาติไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อมได้ ถ้าได้ผู้ปกครองที่ดีมีศีลธรรม มีความรู้ความสามารถ จะนำพาประชาชนและประเทศชาติไปสู่ความผาสุกความเจริญได้ แต่ถ้าได้ผู้ปกครองที่ทุจริตคดโกง ผิดศีลธรรม จะทำให้ประชาชนประสบกับความเดือดร้อนและประเทศชาติอาจจะล่มสลายกลายเป็น เมืองขึ้นของประเทศอื่นก็ได้

ในราโชวาทชาดก ได้สะท้อนย้อนให้เห็นว่าผู้นำหรือผู้ปกครองมีความสำคัญอย่างไร ต่อความผาสุกและความเจริญของประชาชนและบ้านเมือง ไว้ดังนี้
“ถ้าเมื่อโค ทั้งหลายว่ายข้ามแม่น้ำไป โคหัวหน้าฝูงว่ายคด เมื่อโคผู้นำฝูงว่ายคดเช่นนี้ โคทั้งหมดก็ย่อมว่ายคดไปตามกัน

ในมนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ประพฤติไม่เป็นธรรมอย่างแน่แท้ ถ้าพระราชาผู้เป็นใหญ่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม รัฐก็ย่อมอยู่เป็นทุกข์ทั่วกัน
ถ้า เมื่อโคทั้งหลายว่ายข้ามแม่น้ำไป โคหัวหน้าฝูงว่ายข้ามตรง เมื่อโคผู้นำฝูงว่ายข้ามตรงเช่นนั้น โคทั้งหมดก็ย่อมว่ายข้ามตรงไปตามกัน

ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติเป็นธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ย่อมประพฤติเป็นธรรมไปตามอย่างแน่แท้ ถ้าพระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม รัฐก็ย่อมอยู่เป็นสุขทั่วกัน”
ใน เวสสันดรชาดก พระนางมัทรีกราบทูลแก่พระเจ้าสญชัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระราชาไว้ว่า
“ธงเป็นเครื่องหมายแห่ง รถ
ควันเป็นเครื่องปรากฏแห่งไฟ
พระราชาเป็นสง่าแห่งแว่นแคว้น
ภัสดา เป็นสง่าของหญิง
ความเป็นหม้ายเป็นความเผ็ดร้อนในโลก”
(ธโช รถสฺส ปญฺญาณํ
ธูโม ปญฺญาณมคฺคิโน
ราชา รฏฺฐสฺส ปญฺญาณํ
ภตฺตา ปญฺญาณมิตฺถิยา
เวธพฺยํ กฏุกํ โลเก)
ในมหาโพธิชาดก ได้เสนอความสำคัญของผู้นำหรือพระราชาไว้ดังนี้
“ถ้าเมื่อฝูงโคข้ามฟากไป อยู่ โคผู้นำฝูงไปคด เมื่อมีโคผู้นำฝูงไปคด โคทั้งหมดนี้ก็ย่อมไปคดฉันใด

ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ถ้าผู้นั้นประพฤติอธรรม ไม่จำต้องกล่าวถึงประชาชนนอกนี้ ชาวเมืองทั้งปวงย่อมอยู่เป็นทุกข์ ถ้าพระราชาไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม

ถ้าเมื่อฝูงโคข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงไปตรง เมื่อมีโคผู้นำฝูงไปตรง โคทั้งหมดนี้ก็ย่อมไปตรงฉันใด
ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ถ้าแม้ผู้นั้นประพฤติธรรม จะจำต้องกล่าวถึงประชาชนนอกนี้ ชาวเมืองทั้งปวงย่อมอยู่เป็นสุข ถ้าพระราชาทรงตั้งอยู่ในธรรม

เมื่อต้นไม้ใหญ่มีผล ผู้ใดเก็บผลดิบมา ผู้นั้นย่อมไม่รู้รสแห่งผลไม้นั้น ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็ย่อมพินาศ
รัฐเปรียบด้วยต้นไม้ใหญ่ พระราชาใดทรงปกครองโดยไม่เป็นธรรม พระราชานั้นย่อมไม่รู้จักรสแห่งรัฐนั้น และรัฐของพระราชานั้นก็ย่อมพินาศ
เมื่อต้นไม้ใหญ่มีผล ผู้ใดเก็บผลสุกมา ผู้นั้นย่อมรู้รสแห่งผลไม้นั้น ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็ไม่พินาศ
รัฐ เปรียบด้วยต้นไม้ใหญ่ พระราชาใดทรงปกครองโดยธรรม พระราชานั้นย่อมทรงรู้จักรสแห่งรัฐนั้น และรัฐของพระราชานั้นก็ไม่พินาศ
อนึ่ง ขัตติราชพระองค์ใด ทรงปกครองชนบทโดยไม่เป็นธรรม ขัตติยราชพระองค์นั้นย่อมคลาดจากโอชะทั้งปวง
อนึ่ง พระราชาพระองค์ใด ทรงเบียดเบียนชาวนิคมผู้ประกอบการซื้อขาย กระทำการถวายโอชะและพลีกรรม พระราชาพระองค์นั้น ย่อมคลาดจากส่วนพระราชทรัพย์
พระราชาพระองค์ใด ทรงเบียดเบียนนายพรานผู้รู้เขตแห่งการประหารอย่างดี และเบียดเบียนทหารผู้กระทำความชอบในสงคราม เบียดเบียนอำมาตย์ผู้รุ่งเรือง พระราชาพระองค์นั้น ย่อมคลาดจากพลนิกาย
อนึ่ง พระราชาผู้ไม่ประพฤติธรรม เบียดเบียนบรรพชิตผู้แสวงหาคุณ ผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ พระราชาพระองค์นั้นย่อมคลาดจากสวรรค์
อนึ่ง พระราชาผู้ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม ฆ่าพระชายาผู้ไม่ประทุษร้าย ย่อมได้ประสพเหตุแห่งทุกข์หนัก และย่อมผิดพลาดด้วยพระราชบุตรทั้งหลาย
พระ ราชาพึงประพฤติธรรมในชาวชนบท ชาวนิคม พลนิกาย ไม่พึงเบียดเบียนบรรพชิต พึงประพฤติสม่ำเสมอในพระโอรสและพระชายา
พระราชาผู้เป็นภูมิบดีเช่นนั้น เป็นผู้ปกครองบ้านเมือง ไม่ทรงพิโรธ ย่อมทรงทำให้ผู้อยู่ใกล้เคียงหวั่นไหว เหมือนพระอินทร์ผู้เป็นเจ้าแห่งอสูร ฉะนั้น”
เมื่อพระราชาทรงประพฤติธรรม แล้ว นอกจากทำให้ประชาชนในรัฐประสบกับความผาสุกแล้ว พระราชาเองย่อมได้รับผลในชาติหน้าด้วย ดังที่ปรากฏในอุมมาทันตีชาดก ซึ่งอภิปารกเสนาบดีกราบทูลแก่พระเจ้าสีวิราชให้ประพฤติธรรมแก่บุคคลและสัตว์ รอบข้าง ไว้ดังนี้
“ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ทรงประพฤติธรรมอันไม่มีความฉิบหาย เป็นแดนเกษมอยู่เป็นนิจแท้ พระองค์จักดำรงราชสมบัติอยู่ยั่งยืนนาน เพราะพระปัญญาของพระองค์เป็นเช่นนั้น
พระองค์ไม่ทรงประมาทธรรมใด ข้าพระองค์ขออนุโมทนาธรรมนั้นของพระองค์ พระราชาผู้เป็นอิสระทรงประมาทธรรมเสียแล้ว ย่อมเคลื่อนจากรัฐ
ข้าแต่พระ มหากษัตริย์ขัตติยราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระชนนีและพระชนก ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในมิตรและอำมาตย์ทั้งหลาย ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในราชพาหนะและทหารแกล้วทั้งหลาย ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในชนชาวคามและนิคมทั้งหลาย ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในชนชาวแว่นแคว้นและชนบททั้งหลาย ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในเนื้อและนกทั้งหลาย ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมเถิด เพราะว่าธรรมที่ประพฤติแล้วย่อมนำสุขมาให้ ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
ข้าแต่พระ มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมเถิด ด้วยว่า พระอินทร์ เทวดา พร้อมทั้งพรหม เป็นผู้ถึงทิพยสถาน เพราะธรรมที่ประพฤติแล้ว ข้าแต่พระราชา พระองค์อย่าทรงประมาทธรรมเลย”


ในมหาสุบินชาดก ซึ่งเกี่ยวกับพุทธทำนายความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ปกครองอยู่ ๑๑ ประการ คือ ๑, ๔, ๕, ๖, ๘, ๙, ๑๐, ๑๒, ๑๓, ๑๕ และ ๑๖ ถ้าผู้ปกครองไม่มีคุณธรรมในการปกครอง เหตุการณ์ที่เลวร้ายในความฝันย่อมเกิดขึ้น แต่ถ้าผู้ปกครองมีคุณธรรมในการปกครอง เหตุการณ์ที่เลวร้ายในความฝันย่อมไม่เกิดขึ้น เป็นการให้ความสำคัญแก่ผู้ปกครองในฐานะเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ ซึ่งมีผลต่อสังคม การเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม

เรื่องที่พระราชาไม่ทรงประพฤติธรรม ส่งผลทำให้ประชาชนในรัฐไม่ประพฤติธรรมไปด้วย นอกจากจะพบได้ในคัมภีร์ชาดกแล้ว ยังพบในพระสูตรต่าง ๆ เช่น ธรรมิกสูตร มีเนื้อหาดังนี้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พระราชาเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พวกข้าราชการก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพวกข้าราชการไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พราหมณ์และคฤหบดี เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์และคฤหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ชาวนิคมและชาวชนบทไม่ตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อคืนและวันหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ฤดูและปีก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ลมย่อมพัดไม่สม่ำเสมอ เมื่อลมพัดไม่สม่ำเสมอ ลมก็เดินผิดทางไม่สม่ำเสมอ ย่อมผิดเวียนไป เมื่อลมเดินผิดทางไม่สม่ำเสมอผิดเวียนไป เทวดาย่อมกำเริบ เมื่อเทวดากำเริบ ฝนย่อมไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าทั้งหลายก็สุกไม่เสมอกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ผู้บริโภคข้าวที่สุกไม่เสมอกัน ย่อมเป็นผู้มีอายุสั้น มีผิวพรรณเศร้าหมอง มีกำลังน้อย มีอาพาธมาก”

นอกจากนั้น พระราชายังเป็นศูนย์กลางทางสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ในคัมภีร์ชาดกยอมรับว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างคุณธรรมของผู้นำกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ กล่าวคือ ถ้าผู้นำไม่ประพฤติธรรม เช่น ลุแก่อำนาจอคติ ๔ ได้แก่ ลำเอียงเพราะชอบ เป็นต้น สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติย่อมผันแปรผิดเปลี่ยนไปจากธรรมดาของมัน แต่ถ้าผู้นำประพฤติธรรม เช่น ละเว้นจากการลุอำนาจอคติ ๔ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติย่อมเป็นไปตามปรกติธรรมดาของมัน

ในราโชวาทชาดก เสนอไว้ว่า พระราชาพระองค์หนึ่งทรงประสงค์ที่จะทราบว่าประชาชนในแว่นแคว้นมีทรรศนะอย่าง ไรบ้างต่อพระองค์ จึงทรงปลอมพระองค์เสด็จไปตามชนบท ได้สดับแต่ว่าประชาชนสรรเสริญคุณของพระองค์เท่านั้น จึงเสด็จไปยังหิมวันตประเทศ ทรงพบพระโพธิสัตว์ ตามปกติแล้ว พระโพธิสัตว์นำผลนิโครธ (ไทร) สุกจากป่ามาบริโภค ผลนิโครธสุกเหล่านั้น มีรสหวาน มีรสเสมอด้วยน้ำตาลกรวด พระโพธิสัตว์จึงทูลเชิญพระราชาว่า
“ท่าน ผู้มีบุญมาก เชิญท่านบริโภคผลนิโครธสุกนี้แล้วดื่มน้ำตาม”
พระราชาทรง กระทำตามนั้น แล้วตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า
“ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุไร ผลนิโครธสุกนี้ จึงหวานดีจริง”
“ท่านผู้มีบุญมาก พระราชาทรงครองราชสมบัติโดยธรรมโดยเสมอเป็นแน่ เพราะเหตุนั้น ผลนิโครธสุกนั้นจึงหวาน”
“ท่านผู้เจริญ ในเวลาที่พระราชาไม่ดำรงอยู่ในธรรม ผลนิโครธสุก ย่อมไม่หวานหรือหนอ”
“ใช่ ท่านผู้มีบุญมาก เมื่อพระราชาทั้งหลายไม่ดำรงอยู่ในธรรม น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย เป็นต้นก็ดี รากไม้ และผลไม้ในป่าเป็นต้นก็ดี ย่อมไม่หวาน หมดโอชะ อีกอย่างหนึ่ง มิใช่สิ่งเหล่านี้อย่างเดียว แม้รัฐทั้งสิ้น ก็ไร้ค่า แต่เมื่อพระราชาทั้งหลายนั้น ทรงดำรงอยู่ในธรรม แม้สิ่งเหล่านั้นก็ย่อมหวาน มีโอชะ รัฐแม้ทั้งสิ้น ย่อมมีค่า”

ต่อมา พระราชาทรงประสงค์ทดลองคำของพระโพธิสัตว์ว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ จึงทรงครองราชสมบัติโดยไม่เป็นธรรม แล้วเสด็จไปหาพระโพธิสัตว์ ปรากฏว่า ผลนิโครธสุกที่พระองค์เสวยไม่มีรสหวาน จึงถ่มทิ้งพร้อมทั้งเขฬะ (น้ำลาย)

ในกุรุธรรมชาดก แสดงว่า พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราชแห่งนครอินทปัฏฏ์ ในแคว้นกุรุ ทรงประพฤติในกุรุธรรม คือศีล ๕ ได้แก่ ๑. ปาโณ น หนฺตพฺโพ ไม่พึงฆ่าสัตว์ ๒. อทินฺนํ นาทาตพฺพํ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ๓. กาเมสุ มิจฺฉาจาโร น จริตพฺโพ ไม่พึงประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ๔. มุสาวาโท น ภาสิตพฺโพ ไม่พึงกล่าวคำเท็จ และ ๕ มชฺชปานํ น ปาตพฺพํ ไม่พึงดื่มน้ำเมา ฝนจึงตกต้องตามฤดูกาล แต่ในทันตปุรนครแคว้นกาลิงคะของพระเจ้ากาลิงคราช ฝนไม่ตกภัย ๓ ประการ คือ ๑. ฉาตกภัย ภัยคือความอดอยาก ๒.โรคภัย ภัยคือโรค และ ๓. ทุพภิกขภัย ภัยคือข้าวยากหมากแพงจึงเกิดขึ้นแก่ประชาชน ดังนั้น ประชาชนจึงพากันถวายฎีการ้องเรียนพระราชา แต่ต่อมาพระราชาทรงประพฤติกุรุธรรม ฝนจึงตกและภัยทั้ง ๓ ก็สงบระงับ

จึงเห็นได้ว่า ความเชื่อที่แพร่หลายในสมัยโบราณมีอยู่ว่า ความผาสุกและความมั่งคั่งของบ้านเมืองต้องประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ อำนาจที่มองไม่เห็น (Invisible Powers) และกษัตริย์หรือพระราชานี้เองเป็นผู้ทำการประสาน (Mediator) ระหว่างความผาสุกมั่งคั่งของบ้านเมืองกับอำนาจที่มองไม่เห็น

นอกจากนี้ ผู้นำยังต้องแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ตนได้อาศัย เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ดังปรากฏในจุลลสุวกราชชาดก กล่าวถึงพญานกแขกเต้ามีความกตัญญูรู้คุณต้นไม้ที่ตัวเองเคยใช้ประโยชน์ แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้รับประโยชน์จากต้นไม้นั้นแล้ว ก็ยังจะต้องถนอมรักษาต้นไม้นั้นอยู่ ดังนี้

“ท้าวสักกเทวราช (แปลงร่างเป็นพญาหงส์) ถามว่า “ต้นไม้ทั้งหลายมีใบเขียว มีผลดก มีอยู่เป็นอันมาก เหตุใดพญานกแขกเต้าจึงมีใจยินดีในไม้แห้ง ไม้ผุเล่า”
นกแขกเต้าตอบว่า “เราได้กินผลแห่งต้นไม้นี้นับได้หลายปีมาแล้ว ถึงเราจะรู้อยู่ว่าต้นไม้นี้ไม่มีผลแล้ว ก็ต้องรักษาไมตรีให้เหมือนในกาลก่อน”
ท้าวสักกเทวราชถามต่อว่า “นกทั้งหลายย่อมละทิ้งต้นไม้แห้ง ต้นไม้ผุ ไม่มีใบ ไม่มีผลไป ดูก่อนนกแขกเต้า ท่านเห็นโทษอะไร จึงไม่ละทิ้งต้นไม้นี้ไป”
นกแขกเต้าตอบ ว่า “นกเหล่าใด คบหากันเพราะต้องการผลไม้ ครั้นรู้ว่าต้นไม้นี้ไม่มีผลแล้วก็ละทิ้งไปเสีย นกเหล่านั้นโง่เขลา มีความรู้เพื่อประโยชน์ของตน มักจะทำการฝักใฝ่แห่งมิตรภาพให้ตกไป”
ท้าว สักกเทวราชกล่าวว่า”ดูก่อนปักษี ความเป็นสหาย ความรัก ความสนิทสนมกัน ท่านทำไว้เป็นอย่างดีแล้ว ถ้าท่านชอบธรรมนี้ ท่านก็เป็นผู้ควรที่วิญญูชนทั้งหลายพึงสรรเสริญ ดูก่อนนกแขกเต้าผู้มีปีกเป็นยาน มีคอโค้งเป็นสง่า เราจะให้พรแก่ท่าน ท่านจงเลือกเอาพรตามใจปรารถนาเถิด”
เมื่อได้ฟังดังนั้น พญานกแขกเต้าก็ดีใจและขอพรต่อท้าวสักกเทวราชว่า “ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจะพึงได้เห็นต้นไม้นี้กลับมีใบมีผลอีกเล่า ข้าพเจ้าจะยินดีเป็นที่สุดเหมือนคนจนได้ขุมทรัพย์ ฉะนั้น”
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงพรมน้ำอมฤตที่ต้นไม้นั้น ต้นไม้นั้นก็งอกงามแผ่กิ่งก้านสาขา มีร่มเงาอันร่มรื่น น่ารื่นรมย์ใจ พญานกแขกเต้าจึงกล่าวเป็นเชิงขอบคุณท้าวสักกเทวราชว่า “ข้าแต่ท้าวสักกเทวราช ขอพระองค์ทรงพระเจริญสุข พร้อมด้วยพระญาติทั้งปวง เหมือนข้าพระบาทมีความสุข เพราะได้เห็นต้นไม้นี้ผลิตผลในวันนี้ ฉะนั้นเถิด”
ท้าวสักกเทวราชทรงสดับคำกล่าวของพญานกแขกเต้าแล้ว ทรงทำให้ต้นไม้นั้นมีดอกออกผลแล้วจึงเสด็จกลับไปสู่สวนนันทวันพร้อมกับพระ มเหสี”


๓. ลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง

ผู้ปกครองมีลักษณะที่แตกต่างจากผู้ใต้ปกครอง คือ
๑. ผู้นำจะต้องเป็นผู้มีความเสียสละ ละทิ้งความสุขส่วนตัว ทุ่มเทชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ แม้กระทั่งชีวิตก็ยอมพลีสละให้ได้ เพื่อให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจ จากผู้ที่เลือกสรรตนให้เป็นผู้นำของเขา ไม่ใช่อาสาพาตนเองเป็นผู้นำ ผู้ปกครอง ผู้บริหาร หรือนักการเมือง เพียงหวังกอบโกยผลประโยชน์ของรัฐมาเป็นของตนเอง พวกพ้องตนเองหรือทำให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์ด้วยความประมาทขาดปัญญาพิจารณา ให้ถ้วยถี่ของตนเอง
ในมหากปิชาดก เสนอลักษณะของผู้นำลักษณะนี้ไว้ พญาวานรมีจิตเมตตาหวังความสุขของเหล่าวานรที่เลือกตนให้เป็นผู้นำ จึงยอมเสียสละทอดตัวเป็นสะพานให้เหล่าวานรหนีจากลูกธนูของคนแม่นธนู

๒. ผู้นำจะต้องฟังเสียงของประชาชนและกระทำตามเจตจำนงของประชาชน แม้ว่าผู้นำหรือผู้ปกครองได้รับการมอบอำนาจเพื่อการปกครองบริหารจากประชาชน แล้ว แต่อำนาจนั้นไม่อาจถูกนำไปใช้ในทางมิชอบ มิฉะนั้น จะเป็นการริดรอนสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน ต้องระลึกอยู่เสมอว่า เสียงของประชาชน ย่อมเป็นเสียงที่ทรงอำนาจ ศักดิ์สิทธิ์เหนืออื่นใด ผู้ปกครองจึงสามารถปกครองบริหารนำทางประชาชนให้ประสบกับความผาสุกความเจริญ ได้ อย่าคิดว่าเสียงของประชาชนเป็นเพียงเสียงนกเสียงกา นึกย้อนไปถึงตำนานวันสงกรานต์ ธรรมบาลรอดตายเพราะฟังเสียงนกเสียงกา

แต่กระนั้นก็ตาม มติมหาชนมิใช่ถูกต้องเสมอไป ผู้ปกครองจักต้องใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบเที่ยงธรรม ตัดสินใจกระทำการต่างๆ

ในเวสสันดรชาดก สนับสนุนลักษณะของผู้นำดังกล่าว พระเวสสันดร ในฐานะองค์ยุพราชทรงประทานช้างคู่บ้านคู่เมืองของรัฐสีพี อันเป็นการบำเพ็ญทานบารมี แก่รัฐกาลิงคะ ซึ่งรัฐกาลิงคะนี้เป็นประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องด้วยรัฐนั้น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล การที่พระเวสสันดรทรงประช้างนั้นแก่รัฐกาลิงคะ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย แต่ประชาชนของรัฐสีพี ถือว่าช้างนั้นเป็นสมบัติของชาติจึงหวงแหนอย่างยิ่ง โดยที่ประชาชนเองไม่เข้าใจพระประสงค์ของพระเวสสันดร จึงพร้อมใจกันประท้วงต่อพระเจ้าสญชัย พระราชบิดา ให้วินิจฉัยเรื่องนี้ พระเจ้าสญชัยทรงพอพระทัยที่จะสละราชสมบัติให้แก่ประชาชนมากกว่าจะให้เกิดโทษ ทัณฑ์แก่พระโอรส แต่ประชาชนทูลขอเพียงให้เนรเทศออกจากรัฐสีพีไปอยู่ที่เขาวงกต

พระเจ้าสญชัยตรัสแก่พระเวสสันดรว่า “ขอให้เราถือตามเจตจำนงของทวยอาณาประชาราษฎร์เถิด เราไม่พึงเห็นแก่ผลได้ส่วนตัว”

ผู้นำจะต้องไม่รับฟังข้อมูลข่าวสารจากคนอื่นที่มารายงานให้ทราบเท่านั้น แต่ต้องปฏิบัติการเชิงรุก คือ สอดส่องดูแลสดับตรับฟังเสียงจากประชาชนโดยตรงอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้เข้าใจความเป็นไปและปัญหาต่างๆของประชาชนอย่างถูกต้องแท้จริง แล้วนำไปพิจารณาหาทางแก้ไขต่อไป

ในภัณฑุติณฑุกชาดก สนับสนุนทรรศนะข้างต้น มีเรื่องย่อว่า พระราชาปัญจาละ แห่งเมืองอุตตรปัญจาลนคร แคว้นกปิละ ไม่ทรงตรวจตรา สอดส่องดูแลการทำงานของข้าราชการ จึงทำให้ข้าราชการเก็บภาษีรีดนาทาเร้นโดยไม่ชอบธรรม และมีโจรเกิดขึ้นมากมายเที่ยวปล้นฆ่าประชาชน
พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็น รุกขเทวดาจึงทูลเตือนพระราชามิให้ประมาทในการปกครองบริหารบ้านเมือง หมั่นสอดส่องตรวจตราบ้านเมือง ดังนั้นพระราชาจึงทรงปลอมพระองค์ โดยไม่ให้ใครจำได้ เสด็จไปในที่ต่างๆ ได้ทราบความจริง จึงแก้ไขปัญหาต่างๆให้ลุล่วงไปด้วยดี

เรื่องที่ ๑

ชายชราชาวบ้านผู้หนึ่งนำกิ่งหนามมาจากดงล้อมกันปิดประตูเรือนไว้ พาบุตรภรรยาเข้าป่าไป เวลาเย็น เมื่อพวกข้าราชการกลับไปแล้ว ก็กลับมายังเรือนของตน ถูกหนามยอกเท้าที่ประตูเรือน จึงนั่งกระโหย่ง บ่งหนาม ด่าพระราชาว่า
“ขอให้พระเจ้าปัญจาลราช จงถูกลูกศรเสียบในสงคราม เสวยทุกขเวทนา เหมือนเราถูกหนามแทงแล้ว เสวยทุกขเวทนาอยู่ในเวลานี้”
พระ ราชากับราชปุโรหิต ซึ่งปลอมตัวยืนอยู่ใกล้ ๆ ราชปุโรหิตได้ยินคำด่าของชายชรา จึงกล่าวว่า
“ท่านเป็นคนแก่ มีจักษุมืดมัว มองเห็นอะไรไม่ถนัด หนามแทงท่านเอง ในเรื่องนี้ พระเจ้าพรหมทัตมีความผิดอะไรด้วย”
ชายชราจึงโต้ตอบว่า
“พราหมณ์ เราถูกหนามแทง เป็นความผิดของพระเจ้าพรหมทัต พระองค์มิได้พิทักษ์รักษาชาวชนบท จึงทำให้ชาวชนบทถูกข้าราชการกดขี่ด้วยภาษีอันไม่ชอบธรรม กลางคืนถูกพวกโจรปล้น กลางวันถูกข้าราชการกดขี่ ในแว่นแคว้นของพระราชาโกง มีคนอาธรรม์มากมาย
แน่ะพ่อคุณ เมื่อภัยเช่นนี้เกิดขึ้น ประชาชนพากันอึดอัด เพราะกลัวพากันหาไม้มีหนามในป่ามาทำที่ซุกซ่อน”

เรื่องที่ ๒

หญิงชรา มีฐานะยากจนคนหนึ่ง เก็บผักหักฟืนมาจากป่า เลี้ยงดูลูกสาวทั้ง ๒ คน โดยไม่ให้ลูกสาวทั้ง ๒ คนนั้น ไปช่วยทำงานด้วย วันหนึ่ง พลัดตกจากต้นไม้ จึงสาปแช่งพระราชาว่า
“ในแว่นแคว้นของพระเจ้าพรหมทัต (พระเจ้าปัญจาลราช) หญิงสาวหาผัวไม่ได้ไปจนแก่ เมื่อไร พระเจ้าพรหมทัต จึงจักสวรรคตเสียที”
ปุโรหิตของพระราชาซึ่งปลอมตัวไปกับพระราชาด้วย จึงคัดค้านว่า
“เฮ้ย หญิงชั่วไม่รู้จักเหตุผล แกพูดไม่ดีเลย พระราชาเคยหาผัวให้หญิงสาว มีที่ไหนกัน”
หญิงชราจึงโต้ตอบว่า
“พราหมณ์ เอ๋ย เราไม่ได้พูดชั่วเลย เราชาวชนบทรู้เหตุผลดี พระเจ้าพรหมทัตไม่ได้พิทักษ์รักษาประชาชน จึงทำให้กลางวัน ถูกข้าราชการเก็บภาษีโดยไม่ชอบธรรม กลางคืนถูกโจรปล้น ในแคว้นนี้ มีคนอาธรรม์มากมาย เมื่อครองชีพลำบาก การเลี้ยงดูลูกเมียก็ลำบาก หญิงสาวจักมีผัวได้ที่ไหน”

เรื่องที่ ๓

พระราชากับราชปุโรหิตเดินทางต่อไปเห็นชาวนากำลังไถนา โคชื่อสาลิยะถูกผาลแทงล้มลง ชาวนาได้ด่าพระราชาว่า
“ขอให้พระเจ้าปัญจา ลราชจงถูกหอกแทง ต้องนอนกลิ้งอยู่ในสงคราม เหมือนโคสาลิยะถูกผาลแทงนอนอยู่ดังคนกำพร้า ฉะนั้น”
ปุโรหิตของพระราชา ซึ่งปลอมตัวไปกับพระราชาด้วย จึงคัดค้านว่า
“เจ้าคนชาติชั่ว เจ้าโกรธพระเจ้าพรหมทัตโดยไม่เป็นธรรม เจ้าทำร้ายโคของตนเอง ทำไมจึงมาสาปแช่งพระราชาด้วยเล่า”
ชาวนาจึงโต้ตอบว่า
“พราหมณ์ เราโกรธพระเจ้าพรหมทัตโดยชอบธรรม เพราะพระเจ้าพรหมทัตมิได้ทรงพิทักษ์รักษา ชาวชนบท จึงทำให้ชาวชนบทถูกข้าราชการกดขี่ด้วยภาษีอันไม่ชอบธรรม กลางคืนถูกพวกโจรปล้น กลางวันถูกข้าราชการกดขี่ ในแว่นแคว้นของพระราชาโกง มีคนอาธรรม์มากมาย แม่ครัวคงหุงต้มใหม่อีกเป็นแน่ (คือต้องเลี้ยงดูข้าราชการที่มาขูดรีดภาษีโดยไม่เป็นธรรม) จึงนำข้าวมาส่งในเวลาสาย เรามัวแลดูแม่ครัวมาส่งข้าวอยู่ โคสาลิยะจึงถูกผาลแทงเอา”

เรื่องที่ ๔

พระราชากับราชปุโรหิตเดินทางต่อไปแล้วพักอยู่ในบ้านแห่งหนึ่ง รุ่งขึ้น แม่โคนมโกงตัวหนึ่งเอาเท้าดีดคนรีดนมโคล้มไปแล้วทำให้นมสดหกไปด้วย คนรีดนมโคจึงได้ด่าพระราชาว่า
“ขอให้พระเจ้าปัญจาลราช จงถูกฟันด้วยดาบในสงคราม เดือดร้อนอยู่เหมือนเราถูกแม่โคนมถีบในวันนี้ จนนมสดของเขาหกไป ฉะนั้น”
ปุโรหิตได้ฟังเช่นนั้นจึงคัดค้านว่า
“การ ที่แม่โคถีบเจ้าให้บาดเจ็บ น้ำนมหกไปนั้น เป็นความผิดอะไรของพระเจ้าพรหมทัต ท่านจึงติเตียนอยู่”
คนรีดนมโคโต้ตอบว่า
“พราหมณ์ พระเจ้าปัญจาละควรจะได้รับความติเตียน เพราะพระเจ้าพรหมทัตมิได้พิทักษ์รักษาชาวชนบท จึงทำให้ชาวชนบทถูกข้าราชการกดขี่ด้วยภาษีอันไม่ชอบธรรม กลางคืนถูกพวกโจรปล้น กลางวันถูกข้าราชการกดขี่ ในแว่นแคว้นของพระราชาโกง มีคนอาธรรม์มากมาย แม่โคเปรียว ดุร้าย เมื่อก่อนพวกเรามิได้รีดนมมัน มาวันนี้ เราถูกพวกข้าราชการผู้ต้องการน้ำนมรีดนาทาเร้น จึงต้องรีดนมมันอยู่เดี๋ยวนี้”

เรื่องที่ ๕

พระราชากับราชปุโรหิตขึ้นสู่หนทางใหญ่ มุ่งหน้าต่อพระนครกลับไปในบ้านแห่งหนึ่ง พวกนายอากรฆ่าลูกโคอ่อนตัวหนึ่งเพื่อต้องการเอาหนังทำฝักดาบ แม่โคนมที่ลูกถูกฆ่าเศร้าโศกถึงลูก ไม่กินหญ้า ไม่ดื่มน้ำ เที่ยวร่ำร้องหาลูกอยู่ เด็กชาวบ้านเห็นเช่นนั้นได้ด่าพระราชาว่า
“ขอให้ พระเจ้าปัญจาลราช จงพลัดพรากจากโอรส วิ่งคร่ำครวญเหมือนแม่โคกำพร้า พลัดพรากจากลูกวิ่งคร่ำครวญอยู่ ฉะนั้น”
ปุโรหิตคัดค้านว่า
“แม่โคนม เที่ยววิ่งไปมาร่ำร้องอยู่นี้ เป็นความผิดอะไรของพระเจ้าพรหมทัตเล่า”
เด็ก ชาวบ้านโต้ตอบว่า
“มหาพราหมณ์ ความผิดของพระเจ้าพรหมทัตมีแน่ เพราะพระเจ้าพรหมทัตมิได้พิทักษ์รักษาชาวชนบท จึงทำให้ชาวชนบทถูกข้าราชการกดขี่ด้วยภาษีอันไม่ชอบธรรม กลางคืนถูกพวกโจรปล้น กลางวันถูกข้าราชการกดขี่ ในแว่นแคว้นของพระราชาโกง มีคนอาธรรม์มากมาย ลูกโคของพวกเรายังดื่มนมอยู่ ก็ต้องถูกฆ่าตาย เพราะต้องการฝักดาบอย่างไรล่ะ”

เรื่องที่ ๖

ในระหว่างทาง พระราชากับราชปุโรหิตเห็นฝูงกากำลังเอาจะงอยปากจิกกินกบ ณ สระแห้งแห่งหนึ่ง พระโพธิสัตว์ได้บันดาลให้กบแช่งด่าพระราชาเป็นภาษามนุษย์ว่า
“ขอให้พระ เจ้าปัญจาลราช พร้อมด้วยพระราชโอรส จงถูกประหารในสนามรบ ให้ฝูงการุมจิกกิน เหมือนเราผู้เกิดในป่า ถูกฝูงกาจิกกินในวันนี้ ฉะนั้น”
ราชปุโรหิตได้ยิน เช่นนั้น จึงกล่าวว่า
“เฮ้ย กบ พระราชาจะชื่อว่าไม่เป็นผู้ประพฤติธรรมหาได้ไม่ พระราชาจะทรงจัดการพิทักษ์รักษาเจ้าได้อย่างไร”
กบโต้ตอบว่า
“ท่าน เป็นพรหมจารี ชาติอาธรรม์หนอ จึงกล่าวยกย่องกษัตริย์อยู่ได้ เมื่อประชากรเป็นอันมากถูกปล้นอยู่ ท่านยังบูชาพระราชาผู้น่าตำหนิอย่างยิ่ง
พราหมณ์ ถ้าแว่นแคว้นนี้ พึงมีพระราชาดี ก็จะมั่งคั่ง เบิกบาน ผ่องใส ฝูงกาก็จะได้กินก้อนข้าวที่ดี ๆ เป็นพลี ไม่ต้องกินสัตว์เป็นเช่นพวกเรา”
๓. ผู้นำจะต้องประกอบด้วยศีลธรรมและปัญญา จึงทำให้ผู้อยู่ใต้ปกครองประสบกับความผาสุก ในกปิชาดก พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นวานร เป็นผู้นำของบริวาร ๕๐๐ ตัว พอทราบข่าวว่า วานรเกเรตัวหนึ่ง ถ่ายอุจจาระรดศีรษะปุโรหิต จึงได้บอกแก่วานรทั้งที่อยู่ในสังกัดของตนและอยู่อีกสังกัดหนึ่งให้หนีไป โดยให้เหตุผลว่า การอยู่กับคนจองเวรย่อมเกิดอันตรายทุกขณะ จึงพาบริวารหลบไปอยู่ที่อื่น ฝ่ายหัวหน้าวานรหัวดื้อพร้อมทั้งบริวารไม่คิดหนี ในที่สุดจึงถูกฆ่าตายทั้งหมด
พระโพธิสัตว์ จึงกล่าวว่า
“คนพาลสำคัญ ตนว่าเป็นบัณฑิต บริหารหมู่คณะ ลุอำนาจความคิดของตน คงนอนตาย เหมือนวานรตัวนี้ฉะนั้น ส่วนคนฉลาด มีกำลังบริหารหมู่คณะดี เป็นประโยชน์แก่เหล่าญาติ เหมือนท้าววาสวะ เป็นประโยชน์แก่ทวยเทพชาวไตรทศ ฉะนั้น อนึ่ง ผู้ใดเห็นศีล ปัญญาและสุตะ มีในตน ผู้นั้นย่อมประพฤติประโยชน์แก่คนทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เพราะฉะนั้น ธีรชนควรชั่งใจดูตัวเองเหมือนชั่งใจดูศีล ปัญญาและสุตะฉะนั้น แล้วจึงบริหารหมู่คณะบ้าง อยู่คนเดียวเว้นการบริหารบ้าง” (หัวหน้าวานรที่ดื้อรั้นหนีไปตายต่อหน้าพญาวานรโพธิสัตว์)
๔. ผู้นำจะต้องกล้าตัดสินใจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่รอให้ปัญหาสุกงอมจนไม่อาจแก้ไขได้ ในฆตาสนชาดก พระโพธิสัตว์ บังเกิดในกำเนิดนก บรรลุความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ถึงความงามเป็นเลิศ ได้เป็นพญานก อาศัยต้นไม้ใหญ่ซึ่งสมบูรณ์ด้วยกิ่งก้านสาขา และค่าคบมีใบหนาแน่น อยู่ใกล้ฝั่งสระเกิดเองในแนวป่าตำบลหนึ่ง อยู่เป็นหลักฐานพร้อมทั้งบริวารนกเป็นจำนวนมาก เมื่ออยู่ที่กิ่ง อันยื่นไปเหนือน้ำของต้นไม้นั้น ก็พากันถ่ายคูถลงในน้ำ และในสระเกิดเองนั้นเล่า มีพญานาคผู้ดุร้ายอาศัยอยู่ พญานาคนั้นคิดว่า นกเหล่านี้พากันขี้ลงในสระอันเกิดเอง อันเป็นที่อยู่ของเรา เห็นจะต้องให้ไฟลุกขึ้นจากน้ำเผาต้นไม้เสียให้พวกมันหนีไป พญานาคนั้นมีใจโกรธ ตอนกลางคืน เวลาที่พวกนกทั้งหมดมานอนรวมกันที่กิ่งไม้จึงเริ่มทำให้น้ำเดือดพล่านเหมือน กับยกเอาสระขึ้นตั้งบนเตาไฟ ฉะนั้น เป็นชั้นแรก ชั้นที่สอง ก็ทำให้ควันพุ่งขึ้น ชั้นที่สาม ก็ทำให้เปลวไฟลุกขึ้นสูงชั่วลำตาล พระโพธิสัตว์เห็นไฟลุกขึ้นจากน้ำ จึงกล่าวว่า ชาวเราฝูงนกทั้งหลาย ธรรมดาไฟติดขึ้น เขาก็พากันเอาน้ำดับ แต่บัดนี้ น้ำนั่นเองกลับลุกเป็นไฟขึ้น พวกเราไม่อาจอยู่ที่นี้ได้ ต้องพากันไปที่อื่น ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ก็พาฝูงนกที่เชื่อฟังคำบินไปที่อื่น ฝูงนกที่ไม่เชื่อฟัง ต่างก็พากันเกาะอยู่ ถึงความสิ้นชีวิตแล้ว
ในสกุณ ชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานก เห็นกิ่งไม้ที่นกอาศัยอยู่เสียดสีกันเกิดควันขึ้น พระโพธิสัตว์เห็นเหตุการณ์นั้นจึงคิดว่า กิ่งทั้ง ๒ นี้เมื่อเสียดสีกันอยู่อย่างนี้จักเกิดไฟ ไฟนั้นตกลงไปติดใบไม้เก่า ๆ จักเผาต้นไม้นี้ พวกเราไม่อาจอยู่ในที่นี้ พวกเราหนีจากที่นี้ไปอยู่ที่อื่น จึงจะควร พระโพธิสัตว์จึงแนะนำให้นกทั้งหลายหนีไป พวกนกที่เชื่อฟังก็หนีพ้นอันตราย พวกที่ไม่เชื่อฟังอยู่ต่อไป ก็ถูกไฟครอกตาย
๕. ผู้นำจะต้องมีความรอบคอบไม่ตื่นข่าวลือ ตรวจสอบจนกระทั่งพบต้นตอของปัญหา ดังปรากฏในทัทธภายชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นราชสีห์ ราชาแห่งสัตว์ ๔ เท้า ได้วินิจฉัยเหตุที่กระต่ายตัวหนึ่งนอนหลับอยู่ใต้ต้นตาลและต้นมะตูม เมื่อลูกมะตูมสุกหล่นลงมาบนใบตาล กระต่ายไม่ทันพิจารณา คิดว่าแผ่นดินถล่ม จึงวิ่งหนีไปบอกกระต่ายตัวอื่น ๆ ว่า แผ่นดินถล่ม ทำให้สัตว์อื่น มีหมู ระมาด ควาย โค เสือ ช้าง ราชสีห์ ฯลฯ ต่างพากันวิ่งหนีไปด้วย ในที่สุด พระโพธิสัตว์ก็สอบสวนว่า ใครเห็นแผ่นดินถล่มก่อนเพื่อน สัตว์เหล่านั้นก็ซัดทอดกันไปตามลำดับ โดยไม่มีใครเห็นจริงเลย จนกระทั่งถึงกระต่ายตัวนั้น ราชสีห์จึงให้ไปชี้ที่เกิดเหตุ จึงพบว่า มีลูกมะตูมสุกหล่นค้างอยู่บนใบตาล พระโพธิสัตว์จึงแนะนำสัตว์เหล่านั้นว่า อย่าเชื่อข่าวลือจากผู้อื่น โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน
๖. ผู้นำจะต้องได้รับการสั่งสอนในหลักการบริหาร การปกครองและศาสตร์อื่น ๆที่จำเป็นต่อการพัฒนาตัวเองและสังคมประเทศชาติ ชาดกที่แสดงเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการศึกษาสมัยก่อนพุทธกาลได้อย่างดีที่สุด และเป็นที่นิยมอ้างกันมากที่สุด คือติลมุฏฐิชาดก จึงขอเสนอชาดกนี้เป็นตัวแทนในการพิจารณาประเด็นนี้ มีเรื่องย่อ ดังนี้

ใน สมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี (กษัตริย์พระองค์ใดก็ตามครองราชสมบัติในกรุงพาราณสีมีพระนามนี้ทั้งนั้น เช่นเดียวกับพระร่วงในสมัยสุโขทัย หรือฟาโรห์ของอียิปต์สมัยโบราณ)โอรสของพระองค์มีนามว่า พรหมทัตเช่นกัน แท้จริง แม้จะมีอาจารย์ทิศาปาโมกข์ (ตามศัพท์แปลว่า อาจารย์ผู้เป็นประธานในทิศ ตีความได้ว่า อาจารย์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเมืองตักกสิลาก็ได้)ในนครของตน ก็ยังส่งพระราชโอรสไปเรียนศิลปวิทยาในที่ห่างไกล เพราะมุ่งหวังให้พระราชโอรสขจัดความเย่อหยิ่งถือตัว มีความอดทนต่อความยากลำบากและได้เรียนรู้จารีตประเพณีของชาวโลกนอกนครของตน จึงรับสั่งให้พระราชโอรส ซึ่งมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษามา แล้วพระราชทานฉลองพระบาท ๑ คู่ ร่มใบไม้ ๑ คัน และทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ รับสั่งให้ไปเรียนศิลปวิทยาในเมืองตักกสิลา

พระราชกุมารเสด็จถึงเมืองตักกสิลา ถามหาบ้านอาจารย์ รอให้อาจารย์สอนนักศึกษาเสร็จเสียก่อน จึงเข้าไปหา ถอดรองเท้า ลดร่ม ไหว้อาจารย์
ก่อนที่อาจารย์จะสนทนาสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ นั้น ได้ให้พระราชกุมารซึ่งเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางพักเสียก่อน
อาจารย์ ทิศาปาโมกข์ถามว่า “เธอมาจากไหน ?”
พระราชกุมารตอบว่า “มาจากเมืองพาราณสี”
“เธอเป็นลูกใคร ?”
“เป็นโอรสของพระเจ้าพารา ณสี”
“พระองค์เสด็จมาด้วยประสงค์อะไร ?
“ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้ามาเพื่อต้องการเรียนศิลปวิทยา”
“พระองค์นำทรัพย์ส่วนของอาจารย์ (ค่าจ้างสอน) มาด้วยหรือเปล่า หรือพระองค์จะเป็นธัมมันเตวาสิก (คือรับใช้อาจารย์ในเวลากลางวัน เรียนในเวลากลางคืน)”
“ข้าพเจ้านำ ทรัพย์ส่วนของอาจารย์มาด้วย”
ในชาดกนี้ ระบุอีกว่า นักศึกษาที่จ่ายค่าจ้างสอน เป็นเหมือนบุตรคนโตในเรือน เรียนแต่ศิลปวิทยาเท่านั้น
พอมีฤกษ์งามยามดี อาจารย์จึงเริ่มสอนศิลปวิทยาแก่พระราชกุมาร
นักศึกษาเท่าที่พบในชาดกมี อยู่ ๓ ประเภท คือ
๑. นักศึกษาที่จ่ายค่าจ้างสอน (ค่าเล่าเรียนหรือค่าบำรุงการศึกษา) ให้แก่อาจารย์ล่วงหน้า แล้วจึงเล่าเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่ในชาดกเป็นนักศึกษาประเภทแรก เพราะว่านักศึกษาที่มาเรียนในสำนักทิศาปาโมกข์ล้วนเป็นลูกของคนในตระกูลสูง ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจสูง จึงมุ่งเล่าเรียนเพียงอย่างเดียว
๒. นักศึกษาที่ยากจน (หรืออาจจะไม่ยากจนก็ได้) ทำงานรับใช้อาจารย์แทนการจ่ายค่าจ้างสอน คือรับใช้อาจารย์ รวมทั้งนักศึกษาอื่น ๆ ในเวลากลางวัน แล้วเล่าเรียนในเวลากลางคืน
๓. นักศึกษาที่ยากจน อุทิศตนเรียนหนังสือเต็มเวลา แล้วจ่ายค่าเล่าเรียนหลังจากที่สำเร็จการศึกษา ในทูตชาดก ยืนยันนักศึกษาประเภทที่ ๓ ได้เป็นอย่างดี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในกาสิกคาม ไปเล่าเรียนศิลปศาสตร์จนสำเร็จการศึกษาแล้ว จึงทำงานนำทรัพย์ค่าจ้างสอนมาให้แก่อาจารย์ในภายหลัง
อนึ่ง ในมหาสุตโสมชาดก แสดงว่า นักศึกษาบางคนเรียนรู้ศิลปวิทยาได้อย่างรวดเร็วกว่านักศึกษาคนอื่น ๆ อาจารย์จึงมอบหมายให้ช่วยสอน คือเป็นอาจารย์ผู้ช่วย (ปิฏฺฐิอาจริย) เป็นการ แบ่งเบาภาระของอาจารย์และทำให้ตนเองมีความชำนาญมากยิ่งขึ้น
นักศึกษาใน สมัยปัจจุบันนี้ตรงกันกับนักศึกษาประเภทแรกคือจ่ายค่าเล่าเรียนก่อนแล้ว จึงเล่าเรียนหรือผ่อนชำระเป็นงวด ไม่มีนักศึกษาที่ทำงานรับใช้อาจารย์แทนการจ่ายค่าจ้างสอน ส่วนนักศึกษาประเภทที่ ๓ คงมีแต่เพียงรัฐให้ทุนกู้ยืมเงินเรียน จบและทำงานแล้ว จึงนำเงินมาจ่ายคืนให้รัฐพร้อมทั้งดอกเบี้ย
ในชาดกหลาย เรื่อง มีเรื่องศิษย์คิดล้างครูหรือศิษย์เนรคุณครู เมื่ออาจารย์ถ่ายทอดศิลปศาสตร์ที่ตนเองถนัด ย่อมไม่ปิดบังอำพราง แต่ศิษย์บางคนเล่าเรียนจบหลักสูตรแล้ว ด้วยความทระนงในวิชาการนั้น ๆ จึงเรียกร้องค่าจ้างจากผู้จ้างในอัตราที่เท่ากับอาจารย์เพราะถือว่าตนเองมี วิชาความรู้เท่าเทียมกับอาจารย์ ดังนั้น ผู้จ้างจึงจัดให้มีการประลองวิชา เนื่องด้วยอาจารย์แม้จะมีความรู้เท่ากับศิษย์ แต่อาศัยตนเองมีประสบการณ์มายาวนานจึงสามารถพลิกแพลงวิชาความรู้แล้วเอาชนะ ศิษย์เนรคุณได้ เช่นในอุปาหนชาดก พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลนายหัตถาจารย์ (อาจารย์ฝึกช้าง) เจริญวัยแล้ว ก็สำเร็จหัตถีศิลปะ (คือศิลปะฝึกช้าง) สอนศิลปะโดยไม่ปิดบังวิชา จึงเกิดลูกศิษย์คิดล้างครูขึ้น ผู้จ้างคือพระราชาจึงจัดให้มีการประลองวิชา อาจารย์มีกุสโลบาย จึงจับช้างเชือกหนึ่งมาฝึกให้จดจำกลับวิธี คือเมื่อบอกให้เดินก็ให้ถอย เมื่อบอกให้ถอยก็ให้เดิน เมื่อบอกให้จับก็ให้วาง เมื่อบอกให้วางก็ให้จับ เมื่อถึงเวลาแข่งขันกัน ศิษย์จึงสู้ครูไม่ได้ ในคุตติลชาดก พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลนักขับร้อง มีชื่อว่าคุตติละ เจริญวัย เรียนวิชาดีดพิณ ๗ สาย สำเร็จศิลปะการขับร้อง ได้เป็นนักขับร้องชั้นยอด มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อว่ามุสิละมาเรียนวิชาดีดพิณ ๗ สายด้วย โดยผ่านการขอร้องจากมารดาบิดาของคุตติละ เรียนศิลปะการขับร้องจบแล้ว เข้ารับราชการโดยขอรับเบี้ยหวัดเท่ากับคุตติละผู้เป็นอาจารย์ของตน พระราชาจึงรับสั่งให้แข่งขันประลองวิชา คุตติละสามารถเอาชนะศิษย์เนรคุณโดยเด็ดสายพิณออกก็สามารถทำให้เสียงพิณมี ความไพเราะได้เช่นเดิม

ในอัมพชาดก มีนักศึกษาบางคนไม่ยอมรับสถานภาพของอาจารย์ ทำให้เสื่อมจากศิลปวิทยาที่เล่าเรียนมา
นักศึกษาที่มีชื่อเสียงเด่น ๆ ของสำนักทิศาปาโมกข์ ในเมืองตักกสิลามีอยู่เป็นจำนวนมาก ในที่นี้ขอเสนอหมอชีวกโกมารภัจจ์ พร้อมทั้งประวัติย่อ ๆ และสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ในสมัยพุทธกาลได้ เป็นอย่างดี
หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมี ชื่อเสียงมากในสมัยพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าด้วย ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล

ท่านได้เดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์แพทย์สำนักทิศาปาโมกข์ ที่เมืองตักกสิลา เป็นนักศึกษาประเภทที่ ๒ คือทำงานรับใช้อาจารย์แทนการจ่ายค่าจ้างสอน ศึกษาอยู่ ๗ ปี เมื่อจะสำเร็จการศึกษา อาจารย์มีการสอบจบโดยให้ท่านถือเสียมไปตรวจดูทั่วบริเวณ ๑ โยชน์ รอบเมืองตักกสิลาเพื่อหาสิ่งที่ไม่ใช่ตัวยา ท่านหาไม่พบกลับมาบอกอาจารย์ จึงเป็นอันสำเร็จหลักสูตรแพทยศาสตร์จากสำนักทิศาปาโมกข์
อนึ่งในสมัย พุทธกาลมีการผ่าตัด โดยดูได้จากความสามารถของหมอชีวกโกมารภัจจ์ แสดงถึงความก้าวหน้าทางแพทยศาสตร์เป็นอย่างดี
อาจารย์ทิศาปาโมกข์แต่ละ ท่านคงไม่ชำนาญศิลปวิทยาทุกสาขา ดังนั้น นักศึกษาที่ต้องการจะมีความรู้ในศิลปวิทยาหลายสาขาก็ต้องไปศึกษาจากอาจารย์ หลายสำนัก ปรากฏว่า สำนักทิศาปาโมกข์ คงจะไม่มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมในพระเวท เคยมีการส่งนักศึกษาจากเมืองตักกสิลามาศึกษายังเมืองพาราณสี


อาจารย์ทิศาปาโมกข์ (รวมทั้งอาจารย์ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในโลก) สอนเพียงแต่วิชาการเท่านั้นยังไม่เพียงพอ ย่อมต้องสอนสอดแทรกศีลธรรมให้แก่นักศึกษาอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าอาจารย์ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับจ้างสอน แต่ต้องเป็นเหมือนกับผู้นำทางจิตวิญญาณให้แก่นักศึกษาด้วย อาจารย์ต้องเป็นพ่อแม่คนที่ ๒ ต่อจากบูรพาจารย์ คือมารดาบิดาอีกด้วย

ในติลมุฏฐิชาดก ระบุว่า พระราชกุมารนั้นตั้งใจเรียนศิลปวิทยา วันหนึ่ง ได้ไปอาบน้ำพร้อมกับอาจารย์ เห็นเมล็ดงาที่หญิงชราได้ขัดสีแผ่ตากไว้ ก็อยากเสวย จึงหยิบเมล็ดงามาเคี้ยวเสวย ๑ กำมือ หญิงชราคิดว่า นักศึกษาผู้นี้คงอยากกิน จึงไม่ได้ว่ากล่าวแต่อย่างใด พระราชกุมารทำเช่นนั้น ๓ วันติดต่อกัน หญิงชราจึงไปฟ้องอาจารย์ทิศาปาโมกข์ให้สั่งสอนลงโทษ อาจารย์จึงให้นักศึกษา ๒ คนจับพระราชกุมาร แล้วเอาซีกไม้ไผ่เฆี่ยนที่กลางหลัง ๓ ครั้ง พร้อมทั้งสอนว่าอย่าได้ทำเช่นนี้อีก พระราชกุมารแค้นอาฆาตว่า ถ้าตนเป็นกษัตริย์จักฆ่าอาจารย์ผู้นี้

เมื่อเป็นกษัตริย์จึงส่งทูตไปเชิญอาจารย์ให้เข้าเฝ้า อาจารย์พิจารณาว่า กษัตริย์ยังหนุ่ม ไม่อาจให้เข้าใจในความหวังดีของตนได้ แต่เมื่อกษัตริย์ ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาของตนเองพอมีอายุ จึงเข้าเฝ้า กษัตริย์จึงสั่งให้ทหารจับไปประหารชีวิต อาจารย์จึงกราบทูลสรุปได้ว่า การกระทำของข้าพระองค์เป็นการสั่งสอน หาใช่เป็นการก่อเวรไม่ บัณฑิตรู้ข้อนี้อยู่ ถ้าพระองค์ไปลักทรัพย์ ตัดช่องย่องเบา ฆ่าคน ถูกลงโทษจากฝ่ายบ้านเมือง คงไม่ได้เป็นกษัตริย์ อำมาตย์จึงกราบทูลเตือนสติพระราชาว่า คำที่อาจารย์พูดนั้นถูกต้องแล้ว พระราชาทรงกำหนดคุณอาจารย์ได้จึงตั้งให้เป็นปุโรหิต และตั้งไว้ในฐานะเป็นบิดา
หลักสูตรในชาดกคือพระเวท ๓ (ยังเป็นไตรเวท คือ ฤคเวท ยชุรเวทและสามเวท ส่วนจตุรเวท คือเพิ่มอถรวเวทหรืออถรรพเวทเข้ามาหลังสมัยพุทธกาล) และศิลปะ ๑๘ ประการ แต่ศิลปะ ๑๘ ประการนั้นไม่ได้มีการแจกแจงรายละเอียดไว้ แต่พอจะประมวลจากชาดกต่าง ๆ ได้ดังนี้
- ธนูกรรม ศาสตร์ว่าด้วยการยิงธนู
- อกาลผลคัณหาปนมนต์ มนต์ที่ทำให้มะม่วงมีผลในเวลามิใช่ฤดูกาล
- ปฐวีวิชัยมนต์ มนต์กลับใจให้หลง
- หัตถีศิลปะหรือหัตถาจริยศิลปะ ศิลปะฝึกช้าง
- สาลิตตกศิลปะหรือสักขราขิปนศิลปะ ศิลปะดีดกรวด
- คันธัพพศิลปะ ศิลปะการขับร้อง
- สัตติลังฆนศิลปะ ศิลปะในทางกระโดดข้ามหอก
- มตกุฏฐาปนมนต์ มนต์ทำคนตายให้ฟื้น
- อาลัมพายนมนต์ มนต์จับนาค
- นิธิอุทธารณมนต์ มนต์สำหรับหาที่ตั้งของสมบัติที่ฝังอยู่ใต้ดิน
- สัพพรุตชานนมนต์ มนต์รู้เสียงร้องของสัตว์

แต่คัมภีร์รุ่นหลัง เช่น ธรรมนีติ ได้รวบรวมไว้ ดังนี้
๑. สุติ วิชาความรู้รอบตัว
๒. สมฺมุติ วิชาว่าด้วยจารีตประเพณี
๓. สงฺขยา วิชาคำนวณ
๔. โยค วิชายันตรกรรม
๕. นีติ วิชานีติศาสตร์
๖. วิเสสกา วิชาพยากรณ์
๗. คนฺธพฺพา วิชานาฏศิลป์
๘. คณิกา วิชาพลศึกษา
๙. ธนุพฺเพธา วิชายิงธนู
๑๐. ปูรณา วิชาโบราณคดี
๑๑. ติกิจฺฉา วิชาแพทยศาสตร์
๑๒. อิติหาสา วิชาพงศาวดารและประวัติศาสตร์
๑๓. โชติ วิชาดาราศาสตร์
๑๔. มายา วิชาพิชัยสงคราม
๑๕. ฉนฺทติ วิชาการประพันธ์
๑๖. เหตุ วิชาวาทศาสตร์
๑๗.มนฺตา วิชาเกี่ยวกับเวทมนตร์
๑๘. สทฺทา วิชาสัทศาสตร์
ศิลปะนั้น ไทยแปลออกเป็นศิลปศาสตร์ (ตำราว่าด้วยศิลปะต่าง ๆ ) แต่ในสมัยปัจจุบัน ได้แยกความหมายศิลปะกับศาสตร์ออกจากกัน เห็นได้ว่า หลักสูตรครอบคลุมวิทยาการทั้งศาสตร์ (Sciences)และศิลป์ (Arts)
ศิลปะ หมายถึง วิทยาการที่มีวัตถุประสงค์ตรงความงาม วิชาชีพต่างๆ และวิชาที่ใช้ฝีมือ เช่น ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ จิตรกรรม
ศาสตร์ หมายถึง วิทยาการที่มีวัตถุประสงค์ตรงความจริง เช่น โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ แพทย์ศาสตร์

อีกนัยหนึ่ง หลักสูตรจัดได้ ๒ สาย คือ
๑. สายโลกียะ เป็นหลักสูตรที่จัดไว้ โดยมุ่งกิจกรรมทางโลก คือ พระเวท ๓ และศิลปวิทยา ๑๘ ประการ

๒. สายโลกุตตระ เป็นหลักสูตรสำหรับผู้สละโลกเพื่อสืบค้นความจริง ในชาดก เช่น ทุทททชาดก และอรกชาดกพบว่า นักศึกษาส่วนหนึ่งเมื่อเรียนศิลปวิทยาจบแล้ว ละทิ้งชีวิตฆราวาส บวชเป็นฤาษี ศึกษาและปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาโดยเฉพาะ มุ่งเจริญพรหมวิหาร ๔ ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เพื่อเข้าถึงพรหมโลก (ตามคติพราหมณ์)

๗. ผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์ หยั่งรู้ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้วหาทางแก้ไขก่อนที่ปัญหานั้นจะเกิด ขึ้นจริง ๆ มหากปิชาดกเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ พระโพธิสัตว์เกิดในกำเนิดวานร เติบโตแล้วถึงพร้อมด้วยส่วนยาวและส่วนกว้างสูงล่ำสัน มีกำลังวังชามาก มีพละกำลังเท่ากับช้าง ๕ เชือก มีฝูงวานร ๘๐,๐๐๐ ตัวเป็นบริวาร อาศัยอยู่ที่ถิ่นดินแดนหิมพานต์ ณ ที่นั้น ได้มีต้นอัมพะ คือมะม่วง มีกิ่งก้านสาขาแผ่กว้าง มีใบดกหนา ร่มเงาหนา สูงเทียมยอดเขา ขึ้นที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ผลของมันหวานหอมคล้ายกับกลิ่นและรสผลไม้ทิพย์ ผลใหญ่มาก ประมาณเท่าหม้อใบใหญ่ ๆ ผลของกิ่ง ๆ หนึ่งของมันหล่นลงบนบก อีกกิ่งหนึ่งหล่นลงน้ำที่แม่น้ำคงคา ส่วนผลของ ๒ กิ่งหล่นลงที่ใกล้ต้น พระโพธิสัตว์เมื่อพาฝูงวานรไปกินผลไม้ที่ต้นนั้นคิดว่า สักวันหนึ่ง ภัยจักเกิดขึ้นแก่พวกเรา เพราะอาศัยผลไม้ต้นนี้ที่หล่นลงในน้ำ แล้วจึงให้ฝูงกระบี่กินผลไม้ของกิ่งบนยอดที่ทอดไปเหนือน้ำด้วยไม่ให้เหลือ แม้แต่ผลเดียว ตั้งแต่เวลาผลเท่าแมลงหวี่ ในเวลาออกช่อ แม้เมื่อทำเช่นนั้น ผลสุกผลหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในรังมดแดง ฝูงวานร ๘๐,๐๐๐ ตัวมองไม่เห็น หล่นลงในน้ำ แล้วเกิดอันตรายในเวลาต่อมา

๘. ผู้นำจะต้องปรึกษาหารือสนทนาธรรมกับนักบวช (ฤาษี,สมณพราหมณ์) เพื่อจะได้แนวทางนำไปปฏิบัติ เช่นที่ปรากฏในสังกิจจชาดก เป็นต้น
http://www.src.ac.th/web/index2.php?option=content&task=view&id=419&pop=1&page=0

"การเมือง"ขัดแย้งหนัก ดับฝันแบงก์ฟื้นปี"53

สถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดขึ้น เรื่อย ๆ กำลังถูกยกให้เป็นปัจจัยหลักที่จะเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ทำท่า ว่าจะไปได้ดีตั้งแต่ปลายปีที่แล้วต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ และภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่เคยทำท่าจะสดใส กลับกลายมาอยู่บนความไม่แน่นอน

เช่นเดียวกับ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งนักวิเคราะห์ทุกค่ายมองตรงกันว่า ปี 2553 จะปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการลงทุนในประเทศ ซึ่งในไตรมาส 1/53 กลุ่มธนาคารพาณิชย์ก็สะท้อนมุมมองดังกล่าว ด้วยการรายงานผลประกอบการอย่างโดดเด่น

จากการรวบรวมของศูนย์วิจัย กสิกรไทยระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 2.84 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.3% เทียบกับช่วงระยะเดียวกันปีก่อน(YoY) และ 18.3% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 11.4% YoY และ 4.8% QoQ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 23.4% YoY และ 0.1% QoQ ส่งผลให้รายได้หลักของธนาคาร (รายได้ดอกเบี้ย+รายได้ค่าธรรมเนียม) เพิ่มขึ้น 14.3% YoY และ 3.5% QoQ

อย่างไรก็ตาม แม้ไตรมาสแรกแต่ละแห่งจะแสดงผลประกอบการออกมาค่อนข้างดี แต่หลังเกิดเหตุความรุนแรงทางการเมือง ก็เริ่มเห็นสัญญาณของความไม่แน่นอน ว่ากลุ่มธุรกิจการเงินจะสามารถ ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องเพียงใด



ศูนย์ วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จะส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ ทั้งความต้องการสินเชื่อที่อาจชะลอลงกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลโดยตรงจากความไม่สงบ อาทิ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ส่วนสินเชื่อบุคคล ธนาคารพาณิชย์อาจเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้นในกลุ่มที่เป็นลูกจ้างใน อุตสาหกรรมและธุรกิจที่เผชิญกับความไม่แน่นอนของรายได้ ความเสี่ยงที่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าจะลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ความยืดหยุ่นของสภาพคล่องต่ำ

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ก็ได้แสดงความกังวลต่อปัญหาที่เกิดขึ้นว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้ คงพอเป็นแรงขับเคลื่อนของ 2-3 เดือนข้างหน้า แต่สภาพการเมืองที่เกิดความสูญเสียแล้ว ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค ขณะที่บางเรื่องยังคาดเดาไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อเพียงใด และรัฐบาลจะดูแลให้เหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติได้หรือไม่ หากยังยืดเยื้อ อาจสร้างผลกระทบต่อเนื่องถึงปีต่อไป โดยเฉพาะในส่วนการลงทุนใหม่

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ความไม่แน่นอนของหลายปัจจัยโดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ธนาคาร ไม่พิจารณาปรับเป้าการขยายสินเชื่อ แม้ไตรมาสแรกธนาคารจะสามารถขยายสินเชื่อสุทธิได้มากกว่า 7% หรือ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายของทั้งปี 2553

"ใน 7 หมื่นล้านบาท เป็นการขยายตัวของสินเชื่อทุกกลุ่ม ทั้งภาครัฐ รายใหญ่ เอสเอ็มอี และรายย่อย ก็เติบโตได้ดี สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนอีกมาก เราจึงต้องรอดูสถานการณ์ก่อนพิจารณาอีกครั้งในช่วงกลางปี" นายอภิศักดิ์กล่าว

ในส่วนของธนาคารทหารไทย ซึ่งเพิ่งผ่านการปรับโครงสร้างภายใน และตั้งใจจะใช้ปีนี้ที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว เป็นปีของการฟื้นตัวกลับมาของธนาคารอีกครั้ง แต่เมื่อเกิดความไม่สงบขึ้น ก็เริ่มมีความไม่แน่นอนทางธุรกิจเกิดขึ้น

โดย นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ยังไม่มีการทบทวนเป้าหมายธุรกิจในตอนนี้ ต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดย ณ ตอนนี้ ไม่สามารถประเมินได้เลยว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของธนาคารเพียงใด แต่ยังหวังว่าสินเชื่อที่มาจากภาคการส่งออกกำลังเติบโตได้ดีจากการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจโลก จะเข้ามาทดแทนการชะลอตัวลงของสินเชื่อภาคอื่น ๆ

ขณะ ที่ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ประเมินหลังเห็นผลประกอบการไตรมาสแรกของกลุ่มธนาคาร พาณิชย์แล้วว่า ช่วงที่เหลือปีนี้ ธุรกิจกลุ่มนี้อาจไม่ได้สดใสอย่างที่คาด

นาย ธนัท รังษีธนานนท์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์กรุงศรี อยุธยา ประเมินว่า ไตรมาส 2/53 ผลดำเนินงานของกลุ่มจะยังขยายตัวได้ท่ามกลางปัญหาการเมือง แต่หากการชุมนุม ยืดเยื้อจะฉุดรั้งการเติบโตโดยรวมเนื่องจากการใช้จ่ายและลงทุนของเอกชนจะลด ลง

ขณะที่หากรัฐบาลขาดเสถียรภาพ จะทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขาดประสิทธิภาพและความต่อเนื่อง ทำให้สินเชื่อทั้งปี อาจต่ำกว่าที่ทางบริษัทประเมินไว้ที่ 5.9% นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับคุณภาพสินเชื่อที่อาจลดลง พร้อมกับความเสี่ยงที่ต้นทุนทางการเงินจะสูงขึ้น หากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับลดความน่าเชื่อถือของประเทศและกลุ่ม ลง

แม้จะยังไม่ทันปรับเป้าหมายธุรกิจกันในตอนนี้ แต่ประสบการณ์วิกฤตการเงินโลกในปีที่แล้ว คงทำให้ธนาคารทุกแห่งเตรียมแผนตั้งรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันไว้เรียบร้อย และหากเหตุการณ์ยังยืดเยื้อ คงต้องทำใจว่า "ปีนี้อาจจะไม่ใช่ปีที่กลับมาบุกกันอีกรอบอย่างที่หวัง"


ประชาชาติธุรกิจ