Aug 29, 2010

คุกคามสื่ออินเทอร์เน็ต บทเรียนจากสิงคโปร์ถึงไทย

การศึกษาทำความเข้าใจสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต ก็มีความเกี่ยวข้องกับมิติด้านการเมืองอีกด้วย ทั้งในทางที่การเมืองเป็นปัจจัยกำหนดนโยบาย และโครงการผลักดันให้เกิดสื่อใหม่ ขณะที่สื่อใหม่ก็เป็นตัวกระทำการต่างๆ เช่น ส่งเสริม สนับสนุนต่อการเมืองได้ในทำนองเดียวกัน

นักวิชาการด้านการสื่อสารการเมืองที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา อย่าง ซัสแมน จี (Sussman, G.) เขียนหนังสือถึงความสัมพันธ์ ระหว่างเทคโนโลยีการสื่อสารกับการเมือง (Communication Technology and Politic) มองว่าการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ อย่างอินเทอร์เน็ต จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกกันว่า "ประชาธิปไตยอิเล็กทรอนิกส์" (Electronic Democracy) กลับมาเกิดขึ้นจริงๆ ได้ในศตวรรษนี้

อินเทอร์เน็ตมีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญต่อมิติทางการเมือง กล่าวคือ การส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก และการเปลี่ยนทางความคิด ความเห็น การติดต่อสื่อสารไร้พรมแดนในโลกยุคใหม่นี้ ได้ช่วยให้ประชากรทั่วโลก สามารถมีส่วนต่อความหวังร่วมกัน และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างสมบูรณ์กว่าก่อน ที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต

ตัวอย่างที่สามารถนำมายกให้เห็นภาพได้ คือ ประเทศที่ใกล้ๆ กับประเทศไทยอย่างสิงคโปร์ นักสื่อสารการเมืองอย่าง เจมส์ กามูส (Gomez, James. : 2002) ได้เขียนถึงความพยายามใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติเทคโนโลยีการสื่อสารของ รัฐบาลสิงคโปร์ ในหนังสือชื่อ "Internet Politic : Surveillance & Intimidation in Singapore" ได้ชี้ให้เห็นว่าการสื่อสาร ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต มีบทบาท และความสำคัญอย่างมาก ต่อการบริหารประเทศสิงคโปร์ของพรรค The People’s Action Party

"ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า โครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลข่าวสาร รวมถึงเกาะสิงคโปร์ที่ร่ำรวยก็อยู่ในห้วงเวลา ของยุคการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พรรคการเมือง The People's Action Party ซึ่งได้บริหารบ้านเมือง อย่างเบ็ดเสร็จในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา

ก็ได้รับประโยชน์จากการปฏิวัติทางเทคโนโลยีการสื่อสารอันนี้ คือ ประสบความสำเร็จจากการสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า Network Society ซึ่งข้อมูลข่าวสารสามารถส่งผ่านได้อย่างรวดเร็วและราคาถูก สามารถสนับสนุน ให้แผนงานที่ดูเหมือนทะเยอทะยานอย่างมาก ของรัฐบาล ในความพยายามที่จะพลิกประเทศสาธารณรัฐแห่งนี้ ไปเป็นสังคมเศรษฐกิจความรู้ (Knowledge economy society)"

ในที่สุด รัฐบาลของประเทศสิงคโปร์ ก็ได้ใช้อินเทอร์เน็ต เป็นหูเป็นตาติดตามเสียงของประชาชน (Surveillance) ควบคุม (Control) และบริหารปกครอง (Governance) แต่ความผิดพลาดของรัฐบาลสิงคโปร์คือ ความล้มเหลวในการใช้ประโยชน์ จากกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง คือ "เสียงของประชาชน" (voi popoli) ที่มีความหลากหลายในอินเทอร์เน็ต

รัฐบาลสิงคโปร์เป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียน ที่มีการออกกฎหมายมาควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต เพราะมีความเชื่อว่า ความคิดเห็นในลักษณะไม่เห็นด้วยในอินเทอร์เน็ตจะนำไปสู่การต่อต้านการควบคุม และการปกครอง รวมถึงการต่อต้านนโยบายและแผนงานของรัฐได้ในที่สุด

ดังนั้น หากจะกล่าวว่า บทเรียนที่สำคัญของการเมืองสิงคโปร์กับสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต คือ การเริ่มต้นและกระบวนการมาถูกทางแล้ว แต่เจตนารมณ์ที่จะควบคุมคือต้นเหตุของความล้มเหลวก็ไม่น่าจะผิดนัก

ในเวลานี้ รัฐบาลของสิงคโปร์จึงกำลังอยู่ในห้วงเวลาของความท้าทาย ว่าจะใช้ประโยชน์จากการเมืองในโลกดิจิทัล ได้อย่างที่ควรจะเป็น หรือว่าจะเพลี่ยงพล้ำต่อการใช้อำนาจควบคุม และมีการต่อต้านจนนำไปสู่การล่มสลาย นับว่าน่าจับตามองยิ่งนัก

แนวโน้มข้างต้นนี้ ก็ไม่ได้แตกต่างจากกรณีของประเทศไทย การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต และแพร่หลายในราว พ.ศ.2535 นั้น ได้แสดงให้เห็นด้วยว่าอินเทอร์เน็ตมีบทบาทต่อการรับรู้ข่าวสาร และความจริงทางการเมืองได้เช่นกัน และฝ่ายผู้มีอำนาจก็จับจ้องและมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ที่จะเข้าควบคุมอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องบันทึกไว้เลยทีเดียวว่า อินเทอร์เน็ตได้เป็นเสมือน "สื่อทางเลือก" (Alternative Media) เพราะเป็นสื่อสารมวลชนที่สามารถเปิดเผยความจริง โดยไม่มีการเซ็นเซอร์เหมือนกับสื่อมวลชนประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ ที่อยู่ในกำกับของหน่วยงานของภาครัฐ ทั้งกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น รัฐบาลอำนาจเบ็ดเสร็จยุคต่อๆ มา ของประเทศไทย จึงมีความตระหนักในบทบาทนี้ดี จึงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะมีการออกกฎ ระเบียบ ตลอดไปจนถึงกฎหมายมาควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)

น่าสังเกตว่า หากความพยายามควบคุมเสรีภาพในอินเทอร์เน็ตมีเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความสร้างสรรค์ต่อสังคม ก็น่าจะสนับสนุนให้กฎกติกาเหล่านั้นเกิดขึ้น แต่หากพิสูจน์เชื่อได้ว่าผู้มีอำนาจพยายามสร้างความชอบธรรม จากมุมด้านร้ายของอินเทอร์เน็ต มาเป็นเงื่อนไขทางสังคม และการเมืองในการควบคุมเสรีภาพของความคิด ความเห็นของประชาชน กฎหมายอินเทอร์เน็ตก็ไม่ต่างอะไรกับกฎหมายของนักการเมืองในคับแคบ และมีเผด็จการอยู่ในวิญญาณการปกครอง

ในห้วงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองใน พ.ศ.2549 ที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลอำนาจเบ็ดเสร็จของไทย พยายามในการเข้าไปควบคุมการสื่อสารเสรีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยการสร้างกระแสภาพลักษณ์ขึ้น ในกระดานสนทนาในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับแตกต่างจากความพยายาม ที่ควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชน โดยรัฐบาลประเทศสิงคโปร์ นั่นอาจเป็นเพราะว่ารัฐบาลสิงคโปร์ พยายามควบคุมก็จริง แต่เขาสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา

ในขณะที่ประเทศไทยเราผู้มีอำนาจกลับไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงในการสื่อ สารในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่หวังสร้างกระแสเพื่อหาความชอบธรรมและความศรัทธาเท่านั้น จึงน่าศึกษาวิจัยว่า คุณลักษณะที่โดดเด่นของเครือข่ายสื่อใหม่ อย่างอินเทอร์เน็ต ที่เป็นการสื่อสาร ซึ่งบางกรณีไม่มีการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงในโลกไซเบอร์แห่งนี้ จะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือ และศรัทธาให้เกิดขึ้นในกระบวนการการสื่อสารการเมือง (Political Communication) ได้หรือไม่ ?

กระนั้นก็ตาม ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าองค์กร สถาบัน และนักการเมือง สามารถใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต เพื่อการสื่อสารการเมืองได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากโลกของการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นการสื่อสารโดยเสรี ไม่มีการปิดกั้นความคิด ความเห็น ซึ่งนับว่าเป็นโลกของประชาธิปไตยโดยแท้

นักการเมืองที่ชาญฉลาดจึงควรฟังเสียงของประชาชน เพราะเป็นเสียงที่ไม่มีการแต่งเติม โดยไม่ควรพยายามต้านกระแสความคิดความเห็นเสรีนี้ โดยพยายามเข้าไปคุกคาม หรือแทรกแซงมันแต่อย่างใด เช่นนี้ ถึงจะได้ประโยชน์จากประชาธิปไตยอิเล็กทรอนิกส์นี้


Aug 27, 2010

ตากาล็อกใช้เฟซบุ๊คระบายอารมณ์กรณีวิกฤตตัวประกัน

Source - เว็บไซต์เดลินิวส์


ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ใช้เฟซบุ๊ค เครือข่ายชุมชนออนไลน์ เป็นที่ระบายอารมณ์โกรธกรณีตัวประกันชาวฮ่องกงถูกยิงเสียชีวิตหลายคน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ใช้เฟซบุ๊ค เครือข่ายชุมชนออนไลน์ เป็นที่ระบายอารมณ์โกรธกรณีตัวประกันชาวฮ่องกงถูกยิงเสียชีวิตหลายคน โดยหน้าเฟซบุ๊คของประธานาธิบดีเบนิกโน่ อาคีโน เต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ และการใช้วาจาหยาบคายจากความผิดพลาดในการช่วยเหลือตัวประกันที่ถูกคนร้าย ซึ่งเป็นอดีตตำรวจยึดรถบัสเอาไว้ในกรุงมะนิลา ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงเสียชีวิต 8 คน

โดยมีการแสดงความเห็นมากกว่า 250 ข้อความเกี่ยวกับวิกฤตตัวประกัน ลงในหน้าเฟซบุ๊คของประธานาธิบดีอาคีโน ซึ่งข้อความส่วนใหญ่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐบาลใน การจัดการกับวิกฤตตัวประกัน โดยข้อความแสดงความเห็นของนายอัลเบิร์ต อู ระบุว่า เหตุการณ์จี้จับตัวประกันของคนร้าย ถูกนำไปถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ ซึ่งมีการแพร่ภาพไปทั่วโลก อันจะทำให้เห็นว่า ตำรวจฟิลิปปินส์ไม่มีความฉลาด และขาดความชำนาญ รวมทั้งผ่านการฝึกฝนอย่างไม่เต็มที่

ส่วนนายเจอรัลด์ นิโคเมเดส แสดงความไม่พอใจต่อนายโรลันโด้ เมนโดซ่า คนร้ายผู้ก่อเหตุ และประธานาธิบดีอาคีโน ตลอดจนตำรวจที่ออกมายอมรับถึงความผิดพลาดในการยุติวิกฤตตัวประกันดังกล่าว

ทั้งนี้นายอาคีโน วัย 50 ปี ขึ้นเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ยังไม่ถึง 3 เดือน ได้ใช้เครือข่ายสังคมอินเทอร์เน็ตเช่น เฟซบุ๊ค เป็นเครื่องมือในการขอเสียงสนับสนุนจากประชาชน เพื่อต่อสู้กับการทุจริต

ทั้งนี้คอมมานโดฟิลิปปินส์ตัดสินใจบุกจู่โจมรถบัสบรรทุกนักท่องเที่ยวต่างชาติชาวฮ่องกงประมาณ 25 คน ที่ถูกคนร้าย คือนาย โรลันโด เมนโดซา อดีตตำรวจระดับสูง จับเป็นตัวประกันและขู่ฆ่า โดยคนร้ายซึ่งควบคุมรถบัสใจกลางกรุงมะนิลาเมื่อเกือบ 10 ชั่วโมงก่อน กล่าวกับสถานีวิทยุเรดิโอ มินดาเนา เน็ตเวิร์ก ว่า เขาได้ยิ่งตัวประกัน 2 คน และจะฆ่าตัวประกันคนอื่น ๆ หากเจ้าหน้าที่ ตำรวจไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของเขา

ก่อนที่ตำรวจจะบุกจู่โจมไปยังรถบัสและทุบกระจกรถ แต่ยังไม่สามารถขึ้นไปบนรถได้ในทันที ซึ่งเหตุการณ์ระทึกทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีการถ่ายสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่ง ชาติด้วย

ทั้งนี้มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด ก่อนที่ตำรวจพร้อมอาวุธหนักครบมือจะบุกถึงรถบัส ที่จอดอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของกรุงมะนิลา เพียง 10 นาทีหลังจากตำรวจบุกถึงตัวรถ พวกเขายังไม่สามารถเข้าไปในรถได้ แต่ก็ไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนของการเคลื่อนไหวจากภายในรถบัส อย่างไรก็ตาม คนขับรถชาวฟิลิปปินส์ได้กระโดดออกทางหน้าต่างรถและหลบหนีออกมาได้ก่อนตำรวจ ไปถึงเล็กน้อย

ก่อนหน้านี้มือปืนได้ปล่อยตัวประกันออกมาแล้ว 9 คน ทำให้เหลืออยู่ภายในรถ 15 คน

เมน โดซา อดีตนายตำรวจระดับสูง วัย 55 ปี พร้อมเอ็ม 16 ก่อคดีอุกอาจ บุกยึดรถ บัสนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง ซึ่งรวมทั้งเด็ก กลางกรุงมะนิลาเมื่อเช้าวันจันทร์ โดยเมนโดซา ถูกปลดออกจากราชการในปี 2551 จากความ ผิดฐานพัวพันคดีโจรกรรม ค้ายาเสพติดและกรรโชกทรัพย์ และก่อเหตุครั้งนี้ ก็เพื่อต่อรอง ขอกลับเข้ารับราชการตามเดิม

รายงานล่าสุดแจ้งว่า ตัวประกันที่เหลือบนรถโดยสาร 15 คน ถูกยิงเสียชีวิตอย่างน้อย 6 ศพ เป็นนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงอย่างน้อย 4 ราย ขณะที่เมนโดซาถูกตำรวจหน่วยคอมมานโด ยิงเสียชีวิตเช่นกัน โดยตำรวจพังประตูด้านหลังรถบัส ทำให้เมนโดซาหนีไปด้านหน้ารถ และถูกดักยิงเสียชีวิตในที่สุด.


Aug 24, 2010

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ปฏิรูปสื่อ

คอลัมน์: นิธิ เอียวศรีวงศ์: ปฏิรูปสื่อ
Source - มติชน (Th) Monday, August 23, 2010 03:02


ครั้งที่แล้วผมได้พูดถึงว่าหากมองจากสังคม อะไรคือปัญหาของสื่อที่น่าจะปฏิรูป ในครั้งนี้ ผมขอเสนอว่า หากสังคม (ไม่ใช่รัฐ)สามารถกำกับการปฏิรูปสื่อได้

เส้นทางปฏิรูปสื่อควรเป็นอย่างไร

1/รัฐ ต้องโปร่งใสมากขึ้น โปร่งใสหมายความว่าเปิดตัวเองให้คนอื่นๆ สามารถมองเห็นได้ทะลุปรุโปร่ง เพื่อเขาจะได้สามารถตรวจสอบรัฐได้ในทุกแง่ไม่เฉพาะแต่แง่โกงเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงแง่โง่, แง่หาประโยชน์ทางการเมืองโดยไม่ใส่ใจต่อประโยชน์ของส่วนรวม, ฯลฯ

นอกจากต้องแก้กฎหมายและระเบียบราชการ ที่จะเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้สะดวกขึ้นกว่าที่มีอยู่ใน พ.ร.บ.ข่าวสารข้อมูลของรัฐในปัจจุบันแล้ว รัฐและหน่วยงานของรัฐก็ต้องกระตือรือร้นในการให้ข้อมูลเองด้วย ไม่ต้องตามจี้กันไปทุกเรื่อง เคยมีความคิดกันว่า เอกสารราชการส่วนใหญ่ควรเอาลงในเว็บไซต์ของหน่วยงาน เพราะถึงอย่างไรในปัจจุบัน ก็เตรียมเอกสารเหล่านี้ในระบบดิจิตอลหมดแล้ว ไม่ได้เพิ่มแรงงานอะไรขึ้นมา ที่จะเปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้ด้วยปลายนิ้วอยู่แล้ว

แน่นอนว่า พ.ร.บ.ข่าวสารข้อมูลของรัฐก็ควรปรับปรุงแก้ไข เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ต้องการข้อมูลที่ถูกปิดกั้นโดยหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐร่วมกับเอกชน ในเวลาอันรวดเร็วพอสมควร

สื่อมีหน้าที่ต้องฉายแสงไปให้ประชาชนได้เห็นหลังบ้านของรัฐอย่างโจ่งแจ้ง การจ้องมองและเห็นคืออำนาจในยุคสมัยที่รัฐมีความสามารถในการจ้องมองและเห็น ประชาชนแต่ละคนได้มากขึ้น ประชาชนก็ต้องมีความสามารถไม่น้อยไปกว่ากันที่จะจ้องมองและเห็นรัฐได้ไม่ น้อยกว่ากันบ้าง

2/จำเป็นต้องทบทวน พ.ร.บ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์กันใหม่จุดมุ่งหมายหลักของกฎหมายประเภทนี้ คือทำให้ทุกคนปลอดภัยจากการขโมย, ละเมิด และถูกรังแกเพราะอินเตอร์เน็ตสร้างตลาดชนิดใหม่ ซึ่งนับวันก็มีการแลกเปลี่ยนสินค้า, บริการ, ข้อมูลข่าวสาร, และความคิดในปริมาณมากขึ้นทุกที จนกระทั่งในอนาคตอันใกล้ตลาดออนไลน์จะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของการแลก เปลี่ยนดังกล่าว รัฐนับตั้งแต่โบราณมามีหน้าที่ปกป้องให้ตลาดปลอดภัยและเป็นธรรม รัฐก็ต้องทำอย่างนั้นกับตลาดออนไลน์เหมือนกัน

แต่ความคิดที่มีกฎหมายเพื่อปกป้องระบอบปกครอง และระบบสังคม-วัฒนธรรมในตลาดประเภทนี้ เป็นความคิดที่ไม่อาจทำได้ในความเป็นจริง เพราะมีวิธีการร้อยแปดที่จะเล็ดลอดเข้าสู่พื้นที่ไซเบอร์ (อย่าลืมว่าโดยธรรมชาติแล้วพื้นที่นี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นพื้นที่เปิด)

คงถึงเวลาเสียทีที่ต้องคิดถึงการปกป้องคุณค่าของระบอบการปกครองก็ตาม ของระบบสังคม-วัฒนธรรมก็ตาม ด้วยสติปัญญาแทนการใช้อำนาจ ถึงอย่างไรก็ไม่มีเทคโนโลยีอะไร หรืออำนาจอะไรที่จะสามารถปิดกั้นการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลและความคิดเห็น กันอย่างเสรีได้เสียแล้ว แทนที่จะเสียกำลังทรัพย์และกำลังคนไปนั่งคอยจับผิดผู้คน ใช้เงินและทรัพย์นั้นไปในทางที่จะทำให้การถกเถียงอภิปรายกันบนพื้นที่นี้ เป็นไปด้วยเหตุผลและข้อมูลที่เป็นจริงดีกว่า

สิ่งที่มีคุณค่าจริง ย่อมยืนยงได้ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง ไม่ใช่อำนาจดิบ

อำนาจที่รัฐได้ไปจาก พ.ร.บ.ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ รัฐใช้มันอย่างที่ไม่มีใครสามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้เลย เป็นอันตรายต่อการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลอย่างยิ่งกฎหมายใหม่เพื่อการ ปฏิรูปสื่อจึงต้องลดอำนาจรัฐลงและสร้างกระบวนการที่อำนาจรัฐในการใช้ ดุลพินิจ ต้องถูกตรวจสอบหรือยับยั้งได้ตลอดเวลา

3/หนังสือพิมพ์ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของตนมานานกว่าสังคมจะยอมรับว่าเสรีภาพของ หนังสือพิมพ์มีความสำคัญ สื่อทางเลือกซึ่งเป็นสื่อชนิดใหม่ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้น ก็ควรได้เสรีภาพของตัวโดยไม่ต้องใช้เวลาต่อสู้ยาวนานอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์, วิทยุชุมชน, โทรทัศน์ชุมชน, หรือสื่อประเภทอื่น ต้องได้รับหลักประกันเรื่องเสรีภาพเหมือนกัน ต้องเข้าใจว่า เราอาจกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยที่สื่อจะมีขนาดเล็กลง และครอบคลุมตอบสนองต่อผู้คนในวงแคบกว่าเดิม แต่ทุกคนกลับเข้าถึงสื่อได้ง่ายกว่า

หากคิดถึงเสรีภาพ ของสื่อเฉพาะแต่สื่อขนาดใหญ่เช่น หนังสือพิมพ์และทีวีในทุกวันนี้ เสรีภาพนั้นก็อาจไม่เป็นหลักประกันเสรีภาพในการรับรู้ของผู้คนมากนักเพราะจะ มีคนใช้สื่อประเภทนี้น้อยลงไปเรื่อยๆ

4/ถึงแม้ ปัจจุบัน อำนาจรัฐตามกฎหมายที่จะใช้ในการควบคุมสื่ออาจลดน้อยลง แต่สื่อซึ่งกลายเป็นธุรกิจเต็มตัวแล้ว กลับอ่อนไหวต่อการคุกคามและกำกับของรัฐ (ที่จริงคือนักการเมืองที่ใช้อำนาจรัฐ) ได้มากกว่าเดิม เพราะรัฐกุมงบฯโฆษณาก้อนใหญ่ ซึ่งเป็นของกระทรวงทบวงกรมและรัฐวิสาหกิจ (รวมบริษัทมหาชนที่รัฐถือหุ้นใหญ่ด้วย) จึงอาจลงหรือถอนโฆษณาเพื่อกำกับสื่อได้ด้วย

การเข้าถึงแหล่งข่าว ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่รัฐเลือกจะเปิดหรือปิดแก่สื่อได้ และย่อมกระทบต่อการแข่งขันทางธุรกิจของสื่ออย่างแน่นอน จนถึงที่สุด มาตรการนอกกฎหมาย เช่น การคุกคามด้วยการออกหนังสือขอความร่วมมือ ไปจนถึงปาระเบิดข่มขู่ ก็เป็นสิ่งที่รัฐยังใช้อยู่ เราควรกลับมาคิดถึงกระบวนการที่จะควบคุมรัฐ มิให้ใช้มาตรการในกฎหมายและนอกกฎหมายเหล่านี้ในการควบคุมสื่อ เช่น จะทำอย่างไร รัฐจึงจะไม่อาจใช้อำนาจการวางโฆษณาเป็นเครื่องมือควบคุมสื่อได้เป็นต้น

การเข้าถึงแหล่งข่าวควรถือว่าเป็นสิทธิเสมอภาคแก่สื่อทุกชนิด อย่างน้อยก็ในบรรดาหน่วยงานของรัฐทั้งหมด จะไม่มีสื่อใดถูกกีดกันจากการให้ข่าวที่เป็นทางการของหน่วยงาน

การคุกคามสื่อในทางลับจะเกิดขึ้นไม่ได้ หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในด้านนี้ ต้องเอาจริงเอาจังกับอาชญากรรมประเภทนี้อย่างไม่ไว้หน้า หากสื่อฟ้องร้องถึงผู้บังคับบัญชา รัฐต้องดูแลว่าผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นพร้อมจะสืบสวนสอบสวน เพื่อลงโทษบุคคลที่คุกคามสื่อ

5/ควรมีหน่วยงานในภาค สังคม ที่มีความเป็นกลางจริง ในการเฝ้าติดตามตรวจสอบสื่อ และรายงานผลให้สังคมได้รับรู้อยู่เป็นประจำ ต้องหาทางให้หน่วยงานนี้ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ โดยไม่ต้องอยู่ในอาณัติของผู้ให้ทุนจนไม่สามารถให้ความเห็นที่เป็นกลางได้ จริง ในขณะเดียวกันก็ควรสร้างหน่วยงานให้มีสมรรถภาพในการเฝ้าติดตาม และประเมินได้ดีด้วย หน่วยงานประเภทนี้ สามารถให้ความรู้ด้านสื่อแก่ประชาชนได้มาก ในขณะเดียวกัน ก็เท่ากับช่วยทำให้สังคมมีความสามารถในการอ่านสื่อ "ออก" (media literacy)

6/ประเด็นสุดท้ายเท่าที่ผมจะนึกออกก็คือ การศึกษาวิชาสื่อ (ในชื่อ เช่น นิเทศศาสตร์, สื่อสารมวลชน หรือวารสารศาสตร์) ในระดับมหาวิทยาลัยควรได้รับการทบทวนปรับปรุงเสียที วิชานี้สอนกันในมหาวิทยาลัยมาหลายสิบปีแล้ว และผลิตนักทำสื่อประเภทต่างๆ ป้อนตลาดแรงงานที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น จึงควรมีส่วนรับผิดชอบต่อคุณภาพของสื่อที่อาจไม่ได้ดีขึ้นในหลายด้านด้วย

ประเด็นที่น่าทบทวนมีมาก เช่น ยังควรรักษาหลักสูตรปริญญาตรีไว้ต่อไปหรือไม่ เพราะคนทำสื่อน่าจะมีวุฒิภาวะสูงกว่าความรู้ด้านเทคนิคเพียงอย่างเดียวหาก เปิดสอนแต่ระดับหลังปริญญาตรีอย่างเดียวจะดีกว่าหรือไม่ มหาวิทยาลัยควรมีภาระหน้าที่ด้านการผลิตคนด้านนี้ หรือผลิตความรู้ด้านนี้ โดยปล่อยให้สื่อผลิตคนของตนเอง หรือสื่ออาจร่วมมือกันในการผลิตคน(เช่น สมาคมสื่อทำหลักสูตรของตนเอง และฝึกเองเป็นต้น) โดยมหาวิทยาลัยหาทางเชื่อมต่อความรู้ที่ตนสร้างขึ้นได้กับสื่อที่ทำงานอยู่ จริง

ผมเชื่อว่าคนที่มีความรู้ด้านสื่อกว่าผม คงสามารถคิดถึงเส้นทางปฏิรูปได้อีกมาก โดยมีสังคมเป็นผู้นำการปฏิรูป ไม่ใช่รัฐเป็นผู้นำ
--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

คอลัมน์: ต่างประเทศ: "สื่อ" กับ"ความรับผิดชอบกรณีศึกษาจาก "วิกิลีคส์"

คอลัมน์: ต่างประเทศ: "สื่อ" กับ"ความรับผิดชอบกรณีศึกษาจาก "วิกิลีคส์"
Source - มติชนสุดสัปดาห์ (Th) Friday, August 06, 2010 09:58


ราว 2 สัปดาห์ หลังจากที่ เว็บไซต์ "วิกิลีคส์"นำเอา "ปูมบันทึกสงครามอัฟกานิสถาน" ที่ถูกตีตรากำหนดให้อยู่ในชั้น "ความลับ" จำนวน91,731 ชิ้น ครอบคลุมระยะเวลาปฏิบัติการทางทหารตั้งแต่ปี 2004 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี 2009 ออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะ พร้อมๆ กับสื่อสิ่งพิมพ์ระดับที่ได้รับการยอมรับกันในความเป็น "มืออาชีพ"ด้านสื่อสารมวลชน 3 ฉบับ ใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย แดร์ สปีเกล นิตยสารวิเคราะห์ข่าวชั้นหัวแถวของเยอรมนี เดอะ การ์เดียน หนังสือพิมพ์อังกฤษและ นิวยอร์ก ไทม์ส หนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาดูเหมือนการถกเถียงเรื่อง "ความรับผิดชอบ" ของ"สื่อมวลชน" ไม่เพียงไม่เลิกรา กลับยิ่งอึงคะนึงมากยิ่งขึ้น

ใน ทางหนึ่ง เป็นข้อถกเถียงระหว่าง "เจ้าของข้อมูล" กับ "ผู้เผยแพร่" ในอีกทางหนึ่ง เป็นข้อพิเคราะห์ถึงความต่างระหว่าง "สื่อเก่า" กับ "สื่อใหม่"แต่ทั้งสองทาง ถกกันอยู่ในหัวข้อเดียวกัน นั่นคือ"ความรับผิดชอบ" ในสิ่งซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายจากการรนำเสนอข่าวหรือข้อมูล ซึ่งในกรณีนี้หมายถึง "ความเป็นความตาย" ของทั้งทหารอเมริกันทหารกองกำลังผสมนานาชาติ และชาวอัฟกานิสถานที่ทำหน้าที่เป็น "สาย" หรือ "ให้ความร่วมมือ" กับอเมริกันและกองกำลังนานาชาติจะด้วยยินยอมพร้อมใจหรือไม่ก็ตามที

วิ กิลีคส์ นำข้อมูลลับที่ "รั่วไหล" มาสู่มือตน "เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์จำนวน 75,000 ชิ้น เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา สิ่งพิมพ์อีก 3 ฉบับซึ่งได้รับความร่วมมือจากวิกิลีคส์ด้วยการส่งข้อมูลทั้งหมดให้ศึกษาล่วง หน้าราว 1 เดือน ก็เผยแพร่ข่าวนี้ออกมาในวันเดียวกัน

ราว เที่ยงเศษของวันที่ 30 กรกฎาคม ไม่ถึงสัปดาห์หลังการเผยแพร่ดังกล่าว ซาบีฮุลเลาะห์ มูจาฮิด ซึ่งเป็นผู้ติดต่อกับสื่อระดับโลกบ่อยครั้งในฐานะ "ตัวแทน" ของขบวนการทาลีบันในอัฟกานิสถาน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์"ข่าวช่อง 4-แชแนลโฟร์นิวส์" ของอังกฤษ ระบุว่าทาลีบันกำลังตรวจสอบข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านวิกิลีคส์อย่างละเอียด เพื่อหา "สายข่าว" ที่ร่วมมือกับฝ่ายตรงข้าม และดำเนินการ "ลงโทษ" เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป คำพูดของมูจาฮิด ที่ถูกสื่อตะวันตกสถาปนาให้เป็นโฆษกทาลีบัน น่าสนใจมากครับ เขาพูดไว้อย่างนี้

"เรารู้ว่ามีสายลับและผู้คนที่ร่วมมือ กับกองทัพอเมริกา เราจะสอบสวนหาข้อเท็จจริงผ่านสายลับของเราว่าผู้คนที่ถูกเอ่ยถึงไว้นั้นเป็น สายทำงานให้กับสหรัฐอเมริกาจริงหรือไม่ ถ้าพวกเขาเป็นจริงๆ เรารู้ว่าจะลงโทษพวกเขาอย่างไร"

สตีฟ โคลล์ อดีตบรรณาธิการอาวุโสของ วอชิงตันโพสต์ บอกไว้ก่อนหน้านั้นราว 1 วันว่า ตามความรู้ความเข้าใจของตนเอง การเปิดเผย "สาย" ในพื้นที่อิทธิพลของทาลีบันนั้นมีค่าพอๆ กับการบอกว่า"สาย" เหล่านั้นกำลังจะถูก "ฆ่า" หรือ "ถ้าพวกเขาหาตัวพวกนี้ไม่พบ ทาลีบันจะจัดการกับพี่น้องของเขาแทน นี่คือวิธีการที่ทาลีบันทำมาตลอด"

โรเบิร์ต เกตส์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกาบอกเอาไว้ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ว่า "แหล่งข่าว และ วิธีการด้านการข่าว"ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารลับเหล่านั้น "จะเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางของฝ่ายตรงกันข้าม" พลเรือเอกไมค์ มุลเล่น ประธานเสนาธิการทหารร่วม ไปไกลกว่านั้น ด้วยการบอกไว้ในการแถลงคราวเดียวกันว่า

"คุณแอสแซนจ์ อาจพูดอะไร-อย่างไร ก็ได้ว่าสิ่งที่เขาและแหล่งข่าวของเขาคิดและทำลงไปเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่แค่ ไหน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ สิ่งที่พวกเขาทำคือการยื่นมือไปเปื้อนเลือดของทหารหนุ่มสาวและครอบครัวของ ชาวอัฟกันที่เกี่ยวข้องไปแล้ว"

คำตอบโต้ของแอสแซนจ์ ผ่านการให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ในเวลาต่อมา เผ็ดร้อนพอๆ กันในทำนองที่ว่า "พื้นที่ทั้งในอิรักและอัฟกานิสถานล้วนนองไปด้วยเลือดมานานแล้ว" และ "ท่านรัฐมนตรีเกตส์คือผู้ที่กำกับดูแลการสังหารเด็กและผู้ใหญ่เป็นเรือนพัน ในทั้งสองประเทศนั้น" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่อง "คนละประเด็น" แม้จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตามที

ข้อโต้แย้งทำนองดังกล่าว อาจยืดยาวไม่สิ้นสุดแต่มีประเด็นเรื่อง "ความต่าง" ที่น่าสนใจอยู่ในเรื่องของการนำเสนอระหว่าง "วิกิลีคส์" และสื่อสิ่งพิมพ์อีก 3 สำนัก

วิกิลีคส์ เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ทั้ง 3 สำนักล่วงหน้าก่อนเผยแพร่ 1 เดือน โดยให้สิทธิในการเผยแพร่ทั้งหมดได้ทำไม? คำตอบนั้นไม่ว่า "วิกิลีคส์" และผู้ก่อตั้งอย่าง "จูเลียน แอสแซนจ์"จะยอมรับหรือไม่ก็ตามมีอยู่ 2 ประการ หนึ่งนั้นวิกิลีคส์ ยังต้องอาศัยสื่อเหล่านี้ในการสร้างชื่อเสียงสร้างความเชื่อถือให้กับตัวเอง ในอีกทางหนึ่งนั้น"วิกิลีคส์" เรียนรู้ขนบอันถือปฏิบัติกันมายาวนานของสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ว่า เมื่อได้รับพวกเขาจำเป็นต้องตรวจสอบความเป็น "ของแท้-ของปลอม" นั่นเท่ากับพวกเขาได้รับตราประทับ "ของแท้" จากสื่อเหล่านี้โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการด้วยตนเอง-เพราะไม่อาจทำได้โดยที่ ไม่ถูกซักถาม สอบสวนถึงที่มาของ"ข้อมูลลับ" เหล่านี้

อย่าง ไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่า สื่อสิ่งพิมพ์ทั้ง 3 สำนักใช้ระยะเวลา 1 เดือนที่ได้รับข้อมูล ทำหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน ทางหนึ่งนั้นคือการตรวจสอบความจริงแท้ของข้อมูล ในอีกทางหนึ่งนั้นคือการตรวจสอบเนื้อหาของข้อมูล สุดท้าย สื่อทั้งสามยังนำข้อมูลไปสอบถาม "ความเห็น" จากทางการ ในที่สุดเมื่อมาถึงกำหนดเวลาเผยแพร่ข้อมูลพร้อมๆ กันนั้น นอกจากข้อสรุปร่วมประการหนึ่งที่ทั้งหมดได้มาตรงกันคือ สงครามอัฟกันที่แท้จริงนั้นแย่กว่าภาพที่ทางการของแต่ละประเทศ "สื่อสาร" ให้กับประชาชนของตนแม้ว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่แต่ละประเทศเปิดเผย ต่อสาธารณะไว้ก็ตาม นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวแล้ว สื่อแต่ละสำนักให้น้ำหนักต่อข้อมูลที่ตัวเองได้รับแตกต่างกันออกไปและบอก เล่าเรื่องราวทั้งหมดใหม่ด้วยข้อเขียนของตัวเอง ใช้ข้อมูลลับเพียงจำกัดเพื่อสร้างความเข้าใจและเป็นตัวอย่างให้เห็นประจักษ์ แก่ผู้อ่านนิวยอร์ก ไทม์ส ให้คุณค่าของข้อมูลไปในทางของการแสดงให้เห็น "ภาพ"ที่แท้จริงของสงครามจากมุมมองของทหารระดับปฏิบัติการจริง ในขณะที่เดอะ การ์เดียน เน้นไปที่การเสียชีวิตโดยไม่จำเป็นของพลเรือน จากความผิดพลาดของปฏิบัติการ สปีเกล ให้น้ำหนักไปที่ "ความไร้เดียงสา"ในสมรภูมิของทหารนานาชาติ

ในระหว่างที่ สื่อสิ่งพิมพ์ดำเนินการตามธรรมเนียมที่ยึดถือกันมาของตน "วิกิลีคส์" ใช้วิธีการกลั่นกรองข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นแบบฉบับเฉพาะ นั่นคือการใช้วิธีการที่เรียกว่า "คราวด์ซอร์ซซิ่ง" ใช้คนจำนวนมากแบ่งงานกันตรวจสอบและกลั่นกรองข้อมูล ประการหนึ่งเพื่อสรุปเรื่องราวนำเสนอ อีกประการหนึ่งเพื่อดูความเหมาะสมในการนำเสนอ สุดท้ายเมื่อจำเป็นต้องนำเสนอสู่สาธารณะ ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ "คัดสรร" แล้วนำเสนอ "วิกิลีคส์" เลือกที่จะนำเสนอทั้งหมดเพียงยืดระยะเวลาการนำเสนอเอกสารลับจำนวน 15,000 ชิ้นโดยประมาณ ออกไปเพื่อทำในสิ่งที่เรียกว่า "การลดอันตรายลงให้เหลือน้อยที่สุด"

ปัญหาก็คือ เมื่อ อีริค ชมิท และ ชาร์ลี ซาเวจ ผู้ สื่อข่าวของ นิวยอร์กไทม์ส ไปตรวจสอบเอกสารที่เสนอผ่านเว็บไซต์ของวิกิลีคส์ ก็พบว่าเอกสารที่นำเสนอมีการเปิดเผยทั้ง "ชื่อ" หรือ "ข้อมูลบ่งชี้" ถึงตัวของสายข่าวไว้อย่างชัดเจนจนไม่เหนือบ่ากว่าแรงในการหาตัวบุคคลเหล่า นั้นในบางกรณีเป็นการเปิดเผยชื่อหมู่บ้าน อีกบางกรณีหนักข้อขึ้นไปถึงกับเปิดเผยชื่อ "พ่อ" ของสายข่าวไว้อย่างชัดเจน

นั่น ทำให้หลายคนกังขากับกระบวนการของ "วิกิลีคส์" ว่ามี "ความรับผิดชอบ" มากน้อยแค่ไหน? มีความเป็นมืออาชีพมากแค่ไหน?กระบวนการคราวด์ซอร์ซซิ่งช่วยในการตรวจสอบ เอกสารเป็นจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่คุณภาพย่อมขึ้นอยู่กับความ "ชำนาญการ"และ "ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน" รวมไปถึงการสอบถามความเห็นจากแหล่งข่าวระดับ "อาวุโส" ที่จะช่วยชี้ให้เห็นสิ่งที่แม้แต่ผู้สื่อข่าวมืออาชีพอาจจะยังคิดไปไม่ถึง ผลลัพธ์เหล่านั้น เป็นความจริงหรือไม่และควรค่าในการยึดถือปฏิบัติต่อไปหรือไม่? สุดท้าย ถ้าหากวิกิลีคส์ยังยึดถือว่า ผู้กระทำคือผู้รับผิดชอบเพียงอย่างเดียว ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไรกันต่อไป?

เหล่านี้คือสิ่งที่ถกกันอึงคะนึงอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่งครับ!
--จบ--

--มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ส.ค. 2553--