Aug 29, 2010

คุกคามสื่ออินเทอร์เน็ต บทเรียนจากสิงคโปร์ถึงไทย

การศึกษาทำความเข้าใจสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต ก็มีความเกี่ยวข้องกับมิติด้านการเมืองอีกด้วย ทั้งในทางที่การเมืองเป็นปัจจัยกำหนดนโยบาย และโครงการผลักดันให้เกิดสื่อใหม่ ขณะที่สื่อใหม่ก็เป็นตัวกระทำการต่างๆ เช่น ส่งเสริม สนับสนุนต่อการเมืองได้ในทำนองเดียวกัน

นักวิชาการด้านการสื่อสารการเมืองที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา อย่าง ซัสแมน จี (Sussman, G.) เขียนหนังสือถึงความสัมพันธ์ ระหว่างเทคโนโลยีการสื่อสารกับการเมือง (Communication Technology and Politic) มองว่าการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ อย่างอินเทอร์เน็ต จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกกันว่า "ประชาธิปไตยอิเล็กทรอนิกส์" (Electronic Democracy) กลับมาเกิดขึ้นจริงๆ ได้ในศตวรรษนี้

อินเทอร์เน็ตมีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญต่อมิติทางการเมือง กล่าวคือ การส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก และการเปลี่ยนทางความคิด ความเห็น การติดต่อสื่อสารไร้พรมแดนในโลกยุคใหม่นี้ ได้ช่วยให้ประชากรทั่วโลก สามารถมีส่วนต่อความหวังร่วมกัน และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างสมบูรณ์กว่าก่อน ที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต

ตัวอย่างที่สามารถนำมายกให้เห็นภาพได้ คือ ประเทศที่ใกล้ๆ กับประเทศไทยอย่างสิงคโปร์ นักสื่อสารการเมืองอย่าง เจมส์ กามูส (Gomez, James. : 2002) ได้เขียนถึงความพยายามใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติเทคโนโลยีการสื่อสารของ รัฐบาลสิงคโปร์ ในหนังสือชื่อ "Internet Politic : Surveillance & Intimidation in Singapore" ได้ชี้ให้เห็นว่าการสื่อสาร ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต มีบทบาท และความสำคัญอย่างมาก ต่อการบริหารประเทศสิงคโปร์ของพรรค The People’s Action Party

"ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า โครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลข่าวสาร รวมถึงเกาะสิงคโปร์ที่ร่ำรวยก็อยู่ในห้วงเวลา ของยุคการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พรรคการเมือง The People's Action Party ซึ่งได้บริหารบ้านเมือง อย่างเบ็ดเสร็จในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา

ก็ได้รับประโยชน์จากการปฏิวัติทางเทคโนโลยีการสื่อสารอันนี้ คือ ประสบความสำเร็จจากการสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า Network Society ซึ่งข้อมูลข่าวสารสามารถส่งผ่านได้อย่างรวดเร็วและราคาถูก สามารถสนับสนุน ให้แผนงานที่ดูเหมือนทะเยอทะยานอย่างมาก ของรัฐบาล ในความพยายามที่จะพลิกประเทศสาธารณรัฐแห่งนี้ ไปเป็นสังคมเศรษฐกิจความรู้ (Knowledge economy society)"

ในที่สุด รัฐบาลของประเทศสิงคโปร์ ก็ได้ใช้อินเทอร์เน็ต เป็นหูเป็นตาติดตามเสียงของประชาชน (Surveillance) ควบคุม (Control) และบริหารปกครอง (Governance) แต่ความผิดพลาดของรัฐบาลสิงคโปร์คือ ความล้มเหลวในการใช้ประโยชน์ จากกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง คือ "เสียงของประชาชน" (voi popoli) ที่มีความหลากหลายในอินเทอร์เน็ต

รัฐบาลสิงคโปร์เป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียน ที่มีการออกกฎหมายมาควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต เพราะมีความเชื่อว่า ความคิดเห็นในลักษณะไม่เห็นด้วยในอินเทอร์เน็ตจะนำไปสู่การต่อต้านการควบคุม และการปกครอง รวมถึงการต่อต้านนโยบายและแผนงานของรัฐได้ในที่สุด

ดังนั้น หากจะกล่าวว่า บทเรียนที่สำคัญของการเมืองสิงคโปร์กับสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต คือ การเริ่มต้นและกระบวนการมาถูกทางแล้ว แต่เจตนารมณ์ที่จะควบคุมคือต้นเหตุของความล้มเหลวก็ไม่น่าจะผิดนัก

ในเวลานี้ รัฐบาลของสิงคโปร์จึงกำลังอยู่ในห้วงเวลาของความท้าทาย ว่าจะใช้ประโยชน์จากการเมืองในโลกดิจิทัล ได้อย่างที่ควรจะเป็น หรือว่าจะเพลี่ยงพล้ำต่อการใช้อำนาจควบคุม และมีการต่อต้านจนนำไปสู่การล่มสลาย นับว่าน่าจับตามองยิ่งนัก

แนวโน้มข้างต้นนี้ ก็ไม่ได้แตกต่างจากกรณีของประเทศไทย การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต และแพร่หลายในราว พ.ศ.2535 นั้น ได้แสดงให้เห็นด้วยว่าอินเทอร์เน็ตมีบทบาทต่อการรับรู้ข่าวสาร และความจริงทางการเมืองได้เช่นกัน และฝ่ายผู้มีอำนาจก็จับจ้องและมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ที่จะเข้าควบคุมอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องบันทึกไว้เลยทีเดียวว่า อินเทอร์เน็ตได้เป็นเสมือน "สื่อทางเลือก" (Alternative Media) เพราะเป็นสื่อสารมวลชนที่สามารถเปิดเผยความจริง โดยไม่มีการเซ็นเซอร์เหมือนกับสื่อมวลชนประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ ที่อยู่ในกำกับของหน่วยงานของภาครัฐ ทั้งกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น รัฐบาลอำนาจเบ็ดเสร็จยุคต่อๆ มา ของประเทศไทย จึงมีความตระหนักในบทบาทนี้ดี จึงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะมีการออกกฎ ระเบียบ ตลอดไปจนถึงกฎหมายมาควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)

น่าสังเกตว่า หากความพยายามควบคุมเสรีภาพในอินเทอร์เน็ตมีเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความสร้างสรรค์ต่อสังคม ก็น่าจะสนับสนุนให้กฎกติกาเหล่านั้นเกิดขึ้น แต่หากพิสูจน์เชื่อได้ว่าผู้มีอำนาจพยายามสร้างความชอบธรรม จากมุมด้านร้ายของอินเทอร์เน็ต มาเป็นเงื่อนไขทางสังคม และการเมืองในการควบคุมเสรีภาพของความคิด ความเห็นของประชาชน กฎหมายอินเทอร์เน็ตก็ไม่ต่างอะไรกับกฎหมายของนักการเมืองในคับแคบ และมีเผด็จการอยู่ในวิญญาณการปกครอง

ในห้วงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองใน พ.ศ.2549 ที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลอำนาจเบ็ดเสร็จของไทย พยายามในการเข้าไปควบคุมการสื่อสารเสรีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยการสร้างกระแสภาพลักษณ์ขึ้น ในกระดานสนทนาในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับแตกต่างจากความพยายาม ที่ควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชน โดยรัฐบาลประเทศสิงคโปร์ นั่นอาจเป็นเพราะว่ารัฐบาลสิงคโปร์ พยายามควบคุมก็จริง แต่เขาสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา

ในขณะที่ประเทศไทยเราผู้มีอำนาจกลับไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงในการสื่อ สารในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่หวังสร้างกระแสเพื่อหาความชอบธรรมและความศรัทธาเท่านั้น จึงน่าศึกษาวิจัยว่า คุณลักษณะที่โดดเด่นของเครือข่ายสื่อใหม่ อย่างอินเทอร์เน็ต ที่เป็นการสื่อสาร ซึ่งบางกรณีไม่มีการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงในโลกไซเบอร์แห่งนี้ จะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือ และศรัทธาให้เกิดขึ้นในกระบวนการการสื่อสารการเมือง (Political Communication) ได้หรือไม่ ?

กระนั้นก็ตาม ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าองค์กร สถาบัน และนักการเมือง สามารถใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต เพื่อการสื่อสารการเมืองได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากโลกของการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นการสื่อสารโดยเสรี ไม่มีการปิดกั้นความคิด ความเห็น ซึ่งนับว่าเป็นโลกของประชาธิปไตยโดยแท้

นักการเมืองที่ชาญฉลาดจึงควรฟังเสียงของประชาชน เพราะเป็นเสียงที่ไม่มีการแต่งเติม โดยไม่ควรพยายามต้านกระแสความคิดความเห็นเสรีนี้ โดยพยายามเข้าไปคุกคาม หรือแทรกแซงมันแต่อย่างใด เช่นนี้ ถึงจะได้ประโยชน์จากประชาธิปไตยอิเล็กทรอนิกส์นี้


1 comment:

  1. โดยสัญชาติญาณ คนที่กุมอำนาจย่อมกลัวพลังความคิดที่เห็นต่างจากตน กลัวจนกระทั่งคิดว่ามันคือภัยคุกคาม แต่โดยความเป็นจริงแล้ว พลังดังกล่าวนั่นแหละคือเข็มทิศที่เขาควรใช้เป็นประโยชน์เสียมากกว่า

    ReplyDelete