Aug 24, 2010

คอลัมน์: ต่างประเทศ: "สื่อ" กับ"ความรับผิดชอบกรณีศึกษาจาก "วิกิลีคส์"

คอลัมน์: ต่างประเทศ: "สื่อ" กับ"ความรับผิดชอบกรณีศึกษาจาก "วิกิลีคส์"
Source - มติชนสุดสัปดาห์ (Th) Friday, August 06, 2010 09:58


ราว 2 สัปดาห์ หลังจากที่ เว็บไซต์ "วิกิลีคส์"นำเอา "ปูมบันทึกสงครามอัฟกานิสถาน" ที่ถูกตีตรากำหนดให้อยู่ในชั้น "ความลับ" จำนวน91,731 ชิ้น ครอบคลุมระยะเวลาปฏิบัติการทางทหารตั้งแต่ปี 2004 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี 2009 ออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะ พร้อมๆ กับสื่อสิ่งพิมพ์ระดับที่ได้รับการยอมรับกันในความเป็น "มืออาชีพ"ด้านสื่อสารมวลชน 3 ฉบับ ใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย แดร์ สปีเกล นิตยสารวิเคราะห์ข่าวชั้นหัวแถวของเยอรมนี เดอะ การ์เดียน หนังสือพิมพ์อังกฤษและ นิวยอร์ก ไทม์ส หนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาดูเหมือนการถกเถียงเรื่อง "ความรับผิดชอบ" ของ"สื่อมวลชน" ไม่เพียงไม่เลิกรา กลับยิ่งอึงคะนึงมากยิ่งขึ้น

ใน ทางหนึ่ง เป็นข้อถกเถียงระหว่าง "เจ้าของข้อมูล" กับ "ผู้เผยแพร่" ในอีกทางหนึ่ง เป็นข้อพิเคราะห์ถึงความต่างระหว่าง "สื่อเก่า" กับ "สื่อใหม่"แต่ทั้งสองทาง ถกกันอยู่ในหัวข้อเดียวกัน นั่นคือ"ความรับผิดชอบ" ในสิ่งซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายจากการรนำเสนอข่าวหรือข้อมูล ซึ่งในกรณีนี้หมายถึง "ความเป็นความตาย" ของทั้งทหารอเมริกันทหารกองกำลังผสมนานาชาติ และชาวอัฟกานิสถานที่ทำหน้าที่เป็น "สาย" หรือ "ให้ความร่วมมือ" กับอเมริกันและกองกำลังนานาชาติจะด้วยยินยอมพร้อมใจหรือไม่ก็ตามที

วิ กิลีคส์ นำข้อมูลลับที่ "รั่วไหล" มาสู่มือตน "เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์จำนวน 75,000 ชิ้น เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา สิ่งพิมพ์อีก 3 ฉบับซึ่งได้รับความร่วมมือจากวิกิลีคส์ด้วยการส่งข้อมูลทั้งหมดให้ศึกษาล่วง หน้าราว 1 เดือน ก็เผยแพร่ข่าวนี้ออกมาในวันเดียวกัน

ราว เที่ยงเศษของวันที่ 30 กรกฎาคม ไม่ถึงสัปดาห์หลังการเผยแพร่ดังกล่าว ซาบีฮุลเลาะห์ มูจาฮิด ซึ่งเป็นผู้ติดต่อกับสื่อระดับโลกบ่อยครั้งในฐานะ "ตัวแทน" ของขบวนการทาลีบันในอัฟกานิสถาน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์"ข่าวช่อง 4-แชแนลโฟร์นิวส์" ของอังกฤษ ระบุว่าทาลีบันกำลังตรวจสอบข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านวิกิลีคส์อย่างละเอียด เพื่อหา "สายข่าว" ที่ร่วมมือกับฝ่ายตรงข้าม และดำเนินการ "ลงโทษ" เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป คำพูดของมูจาฮิด ที่ถูกสื่อตะวันตกสถาปนาให้เป็นโฆษกทาลีบัน น่าสนใจมากครับ เขาพูดไว้อย่างนี้

"เรารู้ว่ามีสายลับและผู้คนที่ร่วมมือ กับกองทัพอเมริกา เราจะสอบสวนหาข้อเท็จจริงผ่านสายลับของเราว่าผู้คนที่ถูกเอ่ยถึงไว้นั้นเป็น สายทำงานให้กับสหรัฐอเมริกาจริงหรือไม่ ถ้าพวกเขาเป็นจริงๆ เรารู้ว่าจะลงโทษพวกเขาอย่างไร"

สตีฟ โคลล์ อดีตบรรณาธิการอาวุโสของ วอชิงตันโพสต์ บอกไว้ก่อนหน้านั้นราว 1 วันว่า ตามความรู้ความเข้าใจของตนเอง การเปิดเผย "สาย" ในพื้นที่อิทธิพลของทาลีบันนั้นมีค่าพอๆ กับการบอกว่า"สาย" เหล่านั้นกำลังจะถูก "ฆ่า" หรือ "ถ้าพวกเขาหาตัวพวกนี้ไม่พบ ทาลีบันจะจัดการกับพี่น้องของเขาแทน นี่คือวิธีการที่ทาลีบันทำมาตลอด"

โรเบิร์ต เกตส์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกาบอกเอาไว้ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ว่า "แหล่งข่าว และ วิธีการด้านการข่าว"ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารลับเหล่านั้น "จะเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางของฝ่ายตรงกันข้าม" พลเรือเอกไมค์ มุลเล่น ประธานเสนาธิการทหารร่วม ไปไกลกว่านั้น ด้วยการบอกไว้ในการแถลงคราวเดียวกันว่า

"คุณแอสแซนจ์ อาจพูดอะไร-อย่างไร ก็ได้ว่าสิ่งที่เขาและแหล่งข่าวของเขาคิดและทำลงไปเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่แค่ ไหน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ สิ่งที่พวกเขาทำคือการยื่นมือไปเปื้อนเลือดของทหารหนุ่มสาวและครอบครัวของ ชาวอัฟกันที่เกี่ยวข้องไปแล้ว"

คำตอบโต้ของแอสแซนจ์ ผ่านการให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ในเวลาต่อมา เผ็ดร้อนพอๆ กันในทำนองที่ว่า "พื้นที่ทั้งในอิรักและอัฟกานิสถานล้วนนองไปด้วยเลือดมานานแล้ว" และ "ท่านรัฐมนตรีเกตส์คือผู้ที่กำกับดูแลการสังหารเด็กและผู้ใหญ่เป็นเรือนพัน ในทั้งสองประเทศนั้น" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่อง "คนละประเด็น" แม้จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตามที

ข้อโต้แย้งทำนองดังกล่าว อาจยืดยาวไม่สิ้นสุดแต่มีประเด็นเรื่อง "ความต่าง" ที่น่าสนใจอยู่ในเรื่องของการนำเสนอระหว่าง "วิกิลีคส์" และสื่อสิ่งพิมพ์อีก 3 สำนัก

วิกิลีคส์ เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ทั้ง 3 สำนักล่วงหน้าก่อนเผยแพร่ 1 เดือน โดยให้สิทธิในการเผยแพร่ทั้งหมดได้ทำไม? คำตอบนั้นไม่ว่า "วิกิลีคส์" และผู้ก่อตั้งอย่าง "จูเลียน แอสแซนจ์"จะยอมรับหรือไม่ก็ตามมีอยู่ 2 ประการ หนึ่งนั้นวิกิลีคส์ ยังต้องอาศัยสื่อเหล่านี้ในการสร้างชื่อเสียงสร้างความเชื่อถือให้กับตัวเอง ในอีกทางหนึ่งนั้น"วิกิลีคส์" เรียนรู้ขนบอันถือปฏิบัติกันมายาวนานของสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ว่า เมื่อได้รับพวกเขาจำเป็นต้องตรวจสอบความเป็น "ของแท้-ของปลอม" นั่นเท่ากับพวกเขาได้รับตราประทับ "ของแท้" จากสื่อเหล่านี้โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการด้วยตนเอง-เพราะไม่อาจทำได้โดยที่ ไม่ถูกซักถาม สอบสวนถึงที่มาของ"ข้อมูลลับ" เหล่านี้

อย่าง ไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่า สื่อสิ่งพิมพ์ทั้ง 3 สำนักใช้ระยะเวลา 1 เดือนที่ได้รับข้อมูล ทำหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน ทางหนึ่งนั้นคือการตรวจสอบความจริงแท้ของข้อมูล ในอีกทางหนึ่งนั้นคือการตรวจสอบเนื้อหาของข้อมูล สุดท้าย สื่อทั้งสามยังนำข้อมูลไปสอบถาม "ความเห็น" จากทางการ ในที่สุดเมื่อมาถึงกำหนดเวลาเผยแพร่ข้อมูลพร้อมๆ กันนั้น นอกจากข้อสรุปร่วมประการหนึ่งที่ทั้งหมดได้มาตรงกันคือ สงครามอัฟกันที่แท้จริงนั้นแย่กว่าภาพที่ทางการของแต่ละประเทศ "สื่อสาร" ให้กับประชาชนของตนแม้ว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่แต่ละประเทศเปิดเผย ต่อสาธารณะไว้ก็ตาม นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวแล้ว สื่อแต่ละสำนักให้น้ำหนักต่อข้อมูลที่ตัวเองได้รับแตกต่างกันออกไปและบอก เล่าเรื่องราวทั้งหมดใหม่ด้วยข้อเขียนของตัวเอง ใช้ข้อมูลลับเพียงจำกัดเพื่อสร้างความเข้าใจและเป็นตัวอย่างให้เห็นประจักษ์ แก่ผู้อ่านนิวยอร์ก ไทม์ส ให้คุณค่าของข้อมูลไปในทางของการแสดงให้เห็น "ภาพ"ที่แท้จริงของสงครามจากมุมมองของทหารระดับปฏิบัติการจริง ในขณะที่เดอะ การ์เดียน เน้นไปที่การเสียชีวิตโดยไม่จำเป็นของพลเรือน จากความผิดพลาดของปฏิบัติการ สปีเกล ให้น้ำหนักไปที่ "ความไร้เดียงสา"ในสมรภูมิของทหารนานาชาติ

ในระหว่างที่ สื่อสิ่งพิมพ์ดำเนินการตามธรรมเนียมที่ยึดถือกันมาของตน "วิกิลีคส์" ใช้วิธีการกลั่นกรองข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นแบบฉบับเฉพาะ นั่นคือการใช้วิธีการที่เรียกว่า "คราวด์ซอร์ซซิ่ง" ใช้คนจำนวนมากแบ่งงานกันตรวจสอบและกลั่นกรองข้อมูล ประการหนึ่งเพื่อสรุปเรื่องราวนำเสนอ อีกประการหนึ่งเพื่อดูความเหมาะสมในการนำเสนอ สุดท้ายเมื่อจำเป็นต้องนำเสนอสู่สาธารณะ ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ "คัดสรร" แล้วนำเสนอ "วิกิลีคส์" เลือกที่จะนำเสนอทั้งหมดเพียงยืดระยะเวลาการนำเสนอเอกสารลับจำนวน 15,000 ชิ้นโดยประมาณ ออกไปเพื่อทำในสิ่งที่เรียกว่า "การลดอันตรายลงให้เหลือน้อยที่สุด"

ปัญหาก็คือ เมื่อ อีริค ชมิท และ ชาร์ลี ซาเวจ ผู้ สื่อข่าวของ นิวยอร์กไทม์ส ไปตรวจสอบเอกสารที่เสนอผ่านเว็บไซต์ของวิกิลีคส์ ก็พบว่าเอกสารที่นำเสนอมีการเปิดเผยทั้ง "ชื่อ" หรือ "ข้อมูลบ่งชี้" ถึงตัวของสายข่าวไว้อย่างชัดเจนจนไม่เหนือบ่ากว่าแรงในการหาตัวบุคคลเหล่า นั้นในบางกรณีเป็นการเปิดเผยชื่อหมู่บ้าน อีกบางกรณีหนักข้อขึ้นไปถึงกับเปิดเผยชื่อ "พ่อ" ของสายข่าวไว้อย่างชัดเจน

นั่น ทำให้หลายคนกังขากับกระบวนการของ "วิกิลีคส์" ว่ามี "ความรับผิดชอบ" มากน้อยแค่ไหน? มีความเป็นมืออาชีพมากแค่ไหน?กระบวนการคราวด์ซอร์ซซิ่งช่วยในการตรวจสอบ เอกสารเป็นจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่คุณภาพย่อมขึ้นอยู่กับความ "ชำนาญการ"และ "ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน" รวมไปถึงการสอบถามความเห็นจากแหล่งข่าวระดับ "อาวุโส" ที่จะช่วยชี้ให้เห็นสิ่งที่แม้แต่ผู้สื่อข่าวมืออาชีพอาจจะยังคิดไปไม่ถึง ผลลัพธ์เหล่านั้น เป็นความจริงหรือไม่และควรค่าในการยึดถือปฏิบัติต่อไปหรือไม่? สุดท้าย ถ้าหากวิกิลีคส์ยังยึดถือว่า ผู้กระทำคือผู้รับผิดชอบเพียงอย่างเดียว ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไรกันต่อไป?

เหล่านี้คือสิ่งที่ถกกันอึงคะนึงอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่งครับ!
--จบ--

--มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ส.ค. 2553--

No comments:

Post a Comment