Mar 5, 2010

จุดเปลี่ยนแห่งทศวรรษ "นักข่าว" 3.0 News Media in Transition?

วันนี้ 5 มีนาคม วันนักข่าว ไฮไลท์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันนักข่าวคือ การเปิดตัวหนังสือวันนักข่าว ซึ่งแต่ละปีจะหยิบปรากฎการณ์สำคัญในวงการมาเป็นเรื่องนำ สำหรับปีนี้ ทีมทำงานหยิบประเด็นเรื่อง " นักข่าว 3.0 โจทย์หินสื่อไทย " เนื้อหาเจาะลึก ปรากฎการณ์สื่อกระดาษที่กำลังค่อยๆ อัศดง และการปรากฎขึ้นมาของ สื่อใหม่ หรือ สื่อกระจก "ประชาชาติธุรกิจ" นำบทไฮไลท์จากหน้าปกมานำเสนอดังนี้



... หนังสือพิมพ์กำลังจะตาย !!
.. ทางรอดหนังสือพิมพ์ ?
... วิกฤตวารสารศาสตร์ !!
.. Change คนข่าว ?
... สงครามทีวีเดือด!!
นี่คือ พาดหัวนิตยสาร ราชดำเนินประจำเดือน พฤศจิกายน 2552 ที่กลายเป็นหัวข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในสนามข่าวและโรงพิมพ์แต่ละแห่ง
นั่นอาจเป็นเพราะ วินาที นี้ "นิวส์ มีเดีย" อยู่ชิดปลายจมูก คนทำสื่อ เข้าไปทุกที
ขณะที่ 3 จี และ social media หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทวิสเตอร์ หรือ เฟสบุ๊ค กลายเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังท้าทายนักข่าวยุคเก่าและนักข่าวในยุคดิจิตัล อย่างมีนัยยะสำคัญ
กระนั้นก็ตาม คำถามใหญ่ในวงการสื่อก็คือ ในยุคที่ "social media " มีเครือข่ายโยงใยทั่วโลก จนยากที่จะปฏิเสธได้เช่นนี้ สื่อกระแสหลัก จะปรับตัวไปในทิศทางใด ?
และที่สำคัญ นักข่าวต้องปรับตัวอย่างไรกันบ้าง ?
นี่คือ บทเสวนา "ประเด็นร้อนแห่งปี" เพื่อถกปัญหาร่วมสมัย ในวงการสื่อ ทั้งจากสื่อมวลชน นักวิชาการสื่อ รวมทั้งตัวแทนเอเยนซี่ ชื่อดัง ที่เกาะติดปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวนี้อย่างใกล้ชิด
"ดร. สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล " คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดประเด็นว่า การศึกษาเรื่อง News Media in Transition ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า Journalism ว่า ไม่ได้หมายถึงสื่อหนังสือพิมพ์เพียงอย่างเดียว
แต่ Journalism คือการบันทึก เป็น กระบวนรวบรวม เขียน บรรณาธิกรและนำเสนอออกมาในรูปของข่าวและบทบรรณาธิการ ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ หนังสือพิมพ์ นิตยสารข่าว ข่าวโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต เพียงแต่หนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่เก่าแก่ที่สุดที่นำเสนอข่าว และกลายเป็นสถาบันหนึ่งที่ทรงอิทธิพลของสังคมมาเนิ่นนาน
ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงใดๆที่เกิดกับสถาบันที่เก่าแก่ ย่อมส่งผลถึงความรู้สึกของคนทั้งที่อยู่ในกระบวนการผลิตและผู้มีส่วนได้ส่วน เสียจากกระบวนการผลิต
ดร. สุดารัตน์ กล่าวว่า จากงานวิจัยต่างประเทศหลายชิ้น ระบุพ้องกันว่า ท่ามกลางเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ธรรมชาติของการบริโภคสื่อ ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ผู้รับสารมีลักษณะทำอะไรหลายๆอย่างพร้อมๆกัน เช่น อ่านหนังสือไปพร้อมกับฟังรายการทางวิทยุ หรือดูทีวีไปพร้อมๆกับเล่นคอมพิวเตอร์และทานอาหารจานด่วนไปด้วย ส่งผลให้ สมาธิที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งน้อยลง ต้องการข้อมูลแบบฉับไวมากขึ้น
"ถ้ามองจากมุมนี้จะพบว่า สื่อออนไลน์และออฟไลน์จะเข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญสำหรับหนังสือพิมพ์กระดาษแน่ นอน เพราะตอบสนองจริตของ "คนรุ่นใหม่" ได้ตรงกว่า มีความรวดเร็ว ฉับไว เลือกบริโภคเนื้อหาได้ตรงตามความสนใจ รวมทั้งก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่อีกด้วย เพราะสามารถรับข่าวสารโดยตรง หรือ เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือที่วันนี้ได้กลายเป็นอุปกรณ์พื้น ฐานของคนทั่วๆไปแล้ว"
ปกตินักข่าวจะเคยชินกับการเก็บข้อมูลเฉพาะเนื้อหา โดยมีฝ่ายภาพแยกต่างหาก แต่ตอนนี้นักข่าวทำข่าวชิ้นหนึ่งต้องจินตนาการไปพร้อมๆกันว่า จะนำเสนอออกหลากหลายช่องทางอย่างไร ต้องใช้ภาพ เสียง กราฟิกประกอบ รวมใช้เทคนิคการเล่าเรื่องอย่างไร เหมือนนักข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์และอีกหลายองค์กรข่าวในต่างประเทศที่ทำได้ หลายอย่างในตัวคนเดียว
นอกจากนี้ยังต้องทำงานให้ได้เร็วอีกด้วย เพราะผู้รับสารยุคใหม่อยากเห็นข่าวนั้นมีความอัพเดทอย่างต่อเนื่องและแน่นอน ที่สุดเมื่อต้องเลือกความรวดเร็ว ความรอบคอบและความถูกต้องย่อมน้อยลง นักข่าวจึงควรเป็นคนฉับไว รอบรู้และมีไหวพริบ มีทักษะของการค้นคว้าตรวจสอบข้อมูลได้เร็ว ตัดสินใจได้ดี
ดังนั้น "นักข่าวยุคใหม่จะไม่ใช่เป็นแค่นักข่าว แต่เป็นเอดิเตอร์และโปรดิวเซอร์ไปพร้อมๆกัน " การเรียนการสอนทางวารสารศาสตร์จึงต้องปรับวิธีการเรียนการสอน เนื้อหาให้สอดคล้องกับความต้องการแห่งอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ปรากฏการณ์มาถึง เพราะการผลิตบัณฑิตที่ดีเพื่อไปเป็นนักข่าวที่ดีหนึ่งคนใช้ระยะเวลานานหลาย ปี
"จักร์กฤษ เพิ่มพูล" บรรณาธิการอาวุโส กรุงเทพธุรกิจ มองว่า ในอนาคต เนื้อในหนังสือพิมพ์ต้องเปลี่ยนไป กองบ.ก.ต้องคิดให้หนักว่าจะบริหารเนื้อหาอย่างไรที่จะใช้ได้ทั้งกับสื่อสิ่ง พิมพ์ วิทยุ ทีวี หรือกระทั่งคิดเนื้อหาลงอินเทอร์เน็ต ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องสร้างคนทำงาน หรือกองบ.ก. ให้เป็น "multi Journalist" คือ สามารถที่จะมีทักษะทำงานได้หลายสื่อพร้อมๆ กัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
"จักร์กฤษ" เห็นว่า ประเด็นที่น่าห่วงสำหรับวงการสื่อไทย คือ ไม่มีการศึกษาหรือตั้งรับการเปลี่ยนผ่านเรื่อง "นิวส์ มีเดีย" อย่างเป็นระบบ เหมือนต่างประเทศ มีเพียงความเป็นห่วง แต่ดูเลือนราง ไม่แน่ใจว่าเป็นผีหรือคน ฉะนั้น การตั้งรับกับการเปลี่ยนผ่านก็ยังดูเบลอๆ และกล้าๆ กลัว ๆ
"ผมพูดเสมอว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ปรากฏในสื่อหนังสือพิมพ์คือ ยอดขายมันลงมาเรื่อยๆ เราจะตั้งข้อสันนิษฐานว่า ยอดขายมันลงเป็นเพราะอะไร เหตุผลหนึ่งก็คือ ตัวเนื้อหาไม่เปลี่ยน หน้า 1 รายวัน เทียบกัน 3-4 ฉบับ เหมือนกันเกือบทุกข่าว ซึ่ง พบว่าไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเลย คำถามคือ ใครจะมานั่งอ่านข่าวซ้ำ เพราะยุคต่อไป โครงสร้างประชากรจะเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่จะเติบโตมาเป็นผู้รับสารชุดใหม่ แทนคนรุ่นเก่ามากขึ้น"
ฉะนั้น คำถามใหญ่คือ ในกองบ.ก. จะปรับตัวอย่างไรที่จะ บริหารเนื้อหาออกสู่สื่อต่างๆ ให้ลงตัว และปรับตัวคนทำข่าว ให้เขียนข่าวให้หลากหลายกับสื่อที่เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ในแง่การตลาด ผู้บริหารก็ต้องคิดว่า บริหารอย่างไรให้วัตถุดิบซึ่งเป็นข่าว ได้รับการเขียนใหม่ให้สัมพันธ์กับลักษณะของสื่อที่จะออกไป เพื่อเอื้อต่อธุรกิจ
รุ่งมณี เมฆโสภณ สื่อมวลชนอิสระ แสดงทัศนะว่า ในขณะที่ต่างประเทศปรับตัวกับกระแส "นิวส์ มีเดีย" ไปหลายก้าว แต่ประเทศไทย ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งจากเจ้าของสื่อเองและพฤติกรรมนักข่าว ไม่นับรวมเรื่องรายได้ที่ไม่แน่นอน กระทั่ง ปัญหาเรื่อง ฝ่ายโฆษณาขายไม่เป็น ฉะนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้ว เรายังวิ่งตามต่างประเทศอยู่หลายช่วงตัว และไม่เคยสรุปบทเรียนอย่างเป็นระบบ
อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซี ยังกล่าวว่า แม้แต่คณะต่างๆในมหาวิทยาลัย ที่สอนเรื่องนี้ กลับไม่มีการติดตามอย่างจริงจัง แม้จะมีการสอนและติดตามเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ในแง่เนื้อหาอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ประเด็นคือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอดได้ด้วย และเมื่อมองไปในอนาคต ต้องอยู่รอดได้แบบยั่งยืน ไม่ใช่ทดลองเป็นของสนุก
"มองในมุมนักข่าว จริงๆ แล้ว คนที่เล่นสื่อใหม่เยอะๆ จะเข้าใจว่ามันสนุก ถ้าแบ่งเวลาเป็น มันทำงานได้เยอะมาก แต่นักข่าวอาจมองว่า เขาถูกบังคับว่าทำงานเกินเงินเดือนที่ตัวเองได้รับ เขาจึงไม่สนุกด้วย นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ถ้าเขาสนุก อย่างคุณสุทธิชัย หยุ่น เขาสนุก และทำงานกับสื่อใหม่ได้เยอะ ฉะนั้นต้องสนุกกับมัน อุปกรณ์เป็นเรื่องรอง แน่นอน ไม่ใช่ ทุกคน ที่มีไอโฟน หรือ บีบี แต่ประเด็นคือ เราไม่ได้ฝึกนักข่าว ในเชิงสปิริตกับการเป็น "มัลติ มีเดีย รีพอร์ตติ้ง" ฉะนั้น จึงเกิดมีอคติ รู้สึกเหมือนถูกบังคับ"
รุ่งมณี มองว่า อนาคต องค์กรที่จะมีเว็บออนไลน์จะต้องเป็นมัลติมีเดีย เพราะต่อไปเทคโนโลยีจะถูกลง แต่ปัญหาคือ นักข่าวกระดาษ ยังไม่เพิ่มทักษะให้กับตัวเอง เช่น สัมภาษณ์แหล่งข่าวทางโทรศัพท์ แต่ไม่ได้อัดเสียง มองมุมหนึ่งถ้าอัดเสียง อาจจะใช้ได้ในแง่ของการเอาคลิปเสียงมาใช้ได้ด้วย เป็นต้น
ยิ่งเว็บไซต์ที่ไม่มีความจำกัดในเนื้อที่ สามารถทำ Exclusive interview ก็ได้ หรือ เดี๋ยวนี้กล้องมือถือ กล้องจากไอโฟน ใช้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ สามารถใช้ประโยชน์ได้ ทำคลิปได้โดยที่ไม่ต้องเสียพลังงานเพิ่ม เพียงแต่เราขี้เกียจ เคยชินอย่างไร ก็เคยชินอย่างนั้น ฉะนั้น 2 ส่วนสำคัญ คือ ฝ่ายวิชาการ ก็ผลิตคนไป ในขณะที่องค์กรสื่อก็ต้องปรับพฤติกรรม และใช้ประโยชน์จากนิวส์ มีเดีย อย่างเหมาะสม
ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตั้งข้อสังเกตว่า นักข่าวยุคนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโซเชียล มีเดีย มากเพียงพออย่างที่ควรจะเป็น สมัยก่อนในชุมชนนักข่าว เมื่อมีข่าวหรือมีประเด็นสำคัญๆเกิดขึ้น จะมีการพูดคุยถกเถียงกันในห้องนักข่าว ในร้านเหล้า หรือสถานที่ต่างๆ อยู่เสมอ
แต่ปัจจุบันเมื่อมีโซเชียล มีเดีย เกิดขึ้น แทนที่จะหยิบประเด็นข่าวมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันใน โซเชียล หรือแตกยอดทำความเข้าใจกับประเด็นที่ซับซ้อน เช่น ประเด็น นครปัตตานี แต่เท่าที่ติดตาม นักข่าวเองก็ไม่ได้ แลกเปลี่ยนหรือถกเถียงหรือลิงค์ต่อกันไป เพื่อหาข้อมูลอ่านเพิ่ม หรือใช้โซเชียล มีเดีย ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น จึงแปลกใจว่า ทำไมเรายังใช้โซเชียล มีเดีย ในแวดวงข่าวยังไม่เต็มที่
ดร. มานะ เห็นว่า เราสามารถใช้โซเชียล มีเดีย ในเชิงข่าวสืบสวนสอบสวนได้อีกมาก หรือแค่ระดมความคิดเห็นก็เป็นประโยชน์ เพราะหลักหัวใจอย่างหนึ่งของโซเชียล มีเดีย ก็คือ การสนทนา แลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ใช้ด้วยกันเอง หรือถ้าเรา ไม่มองว่าตัวเราเป็นผู้ส่งข่าว คือ เราเป็นผู้รับสารจากนักการเมือง หรือนักธุรกิจ ก็น่าจะใช้โซเชียล มีเดีย เป็นเวทีสาธารณะที่ ระดมความคิดเห็น ได้มากกว่านี้
"ถ้ามองไป ในอนาคต ผมมองย้อนกลับไปว่า นักข่าวคงไม่สามารถทำข่าวในฐานะที่เป็นมืออาชีพได้คนเดียว โดด ๆ แต่ต้องดึงเอาองค์ความรู้จากคนในสายวิชาชีพต่างๆ ซึ่งถ้าเราใช้เครื่องมือของ โซเชียล มีเดีย
ในการดึงองค์ความรู้ต่างๆ ได้ มันน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่านี้ แทนที่เราจะไปอิงกับแหล่งข่าวบิ๊กเนม บางคนเท่านั้น ซึ่งไม่รู้ว่าพูดจริงหรือรู้ลึกรู้จริงมากแค่ไหน"
ในแวดวงสถาบันการศึกษา ดร. มานะ มองว่า ปัจจุบัน เรื่องนี้เป็นปัญหามาก ไม่ใช่แค่เฉพาะปัญหาจากสายวิชาชีพ แต่ ในสายวิชาการเอง ก็มีเพียงบางคนที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้
"ผมได้คุยกับนักข่าวอาวุโส และ อาจารย์สอนนิเทศศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยว่า บางทีเราอาจต้องใช้การกระตุ้นจากสายวิชาชีพด้วยซ้ำไปว่า ฝ่ายวิชาชีพขยับแล้ว สถาบันการศึกษาเองก็ควรมีการปรับตัวด้วยหรือไม่ แล้วก็ย้อนกลับไปตรวจหลักสูตร
เช่น หลักสูตรที่เราอิงมาจาก จุฬา ฯ หรือ ธรรมศาสตร์สมัยก่อน ในการวางแบบเรียนเรื่องนิเทศศาสตร์ก็คือ แบ่งชัดเจนว่า วารสารศาสตร์ คุณก็ยุ่งเรื่องหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารก็แยกไปเป็นสาขา วิทยุ โทรทัศน์ไปเลย โฆษณาก็แยกออกมา พีอาร์ก็แยกมาเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันอย่างที่ตัวแทนเอเจนซี่บอกว่า ทุกสาย มันกลืนกินหลอมหลวมกันหมดแล้ว"
ดร.มานะ ทิ้งท้ายว่า ในอนาคตว่า นักศึกษาที่จบมาไม่จำเป็นต้องวิ่งเข้าสู่สื่อหลักเพียงอย่างเดียว คนรุ่นใหม่อาจจะมีอาชีพอื่นที่คุณเลี้ยงตัวได้ แต่ก็สามารถมีทักษะในการทำสื่อได้ด้วย แต่กระนั้นก็ตาม ปัญหาที่น่าห่วงคือ เรื่องกรอบคิดหรือ แนวคิดมากกว่า เพราะทักษะเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ สามารถฝึกกันได้ แต่ปัญหาคือ เขาจะคลิกอย่างไร ในฐานะที่ระบบการศึกษาหรือระบบหลายๆ อย่าง ให้เขาสามารถดึงองค์ความรู้จากที่ต่างๆ มาใช้ได้ ไม่ใช่ก็อปปี้ออกมาจากกูเกิ้ล
"รัชนีวรรณ ฤทธิธรรม " Communication Planning Director จาก Index Creative village มองว่า วันนี้ในมุมมองเอเยนซี ต้องทำการสื่อสารให้กลายเป็นบทสนทนา ให้ใกล้ตัวคนมากที่สุด เพราะเราเชื่อว่า มีเดียที่เปลี่ยนตั้งแต่ "เวิล์ด ไวด์ เว็ป"(www) เข้ามาในโลก จนทำให้เกิดโซเชียล มีเดีย ทำให้ทุกคนไม่ใช่เฉพาะอาชีพนักข่าวกลายเป็นนักข่าวกลายๆ ไปแล้ว
ฉะนั้น เทรนด์ที่ทันสมัยที่สุด วันนี้คือ ผู้บริโภคเป็นคนบอก เราไม่เชื่อว่า มือถือดี เพราะแบรนด์ ๆ หนึ่งเล่า แต่เราจะเชื่อว่า มือถือนี้ดีเพราะเพื่อนเราเล่าให้ฟังว่ามือถือนี้ดียังไง หรือ คนที่เราเชื่อถือ
หรือเราจะเปิดดูว่าเขาว่าอย่างไร เขามีความรู้สึกย่างไร เทรนด์เป็นแบบไหน ฉะนั้น นักการตลาดต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการสร้างบทสนทนากับผู้คน โดยทำอย่างไรก็ได้ ให้ตัวเองไปอยู่ในบทสนทนา หรือ แนะนำตัวเองผ่านบทสนทนานั้นๆ จะเรียกยุคนี้ว่า เป็นยุค "คอนซูมเมอร์ ลิซึ่ม" ก็ว่าได้ ฉะนั้น เราต้องจับประเด็นว่า เขาต้องการอะไร และเขากำลังสนใจอะไรอยู่
"ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี" ประธานชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เห็นว่า โจทย์ใหญ่ที่เราต้องคิดคือ 1. คือการปรับตัวของสื่อหลักว่าจะไปในทิศทางไหน และ 2. การปรับตัวของนักข่าว เพราะทุกวันนี้สื่อคิดเรื่องนี้แน่นอนแต่ถามว่า เราคิดจริงจังแค่ไหน เพราะดูแล้วสื่อบ้านเรายังมีลักษณะ กล้าๆ กลัว ๆ คือ ไม่รู้อนาคตว่าจะปรับตัวอย่างไร เพราะยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ
ฉะนั้น ทิศทางสื่อใหม่ในอนาคต สุดท้ายคงหนีไม่พ้นเรื่องการปรับตัว แต่ถามว่าจะปรับตัวไปในทิศทางไหน ผมคิดว่า สื่อหลักต้องทำความเข้าใจกับ โซเชียล มีเดีย อย่างเป็นระบบ
เช่น สื่อจะบูรณาการข่าวให้เข้ากับ โซเชียล มีเดีย อย่างไรให้ลงตัว ผมคิดว่านี่คือโจทย์ใหญ่ของสื่อหลัก ในการปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์
นี่คือ โจทย์หินของ "สื่อไทย" ยุค 3.0 โดยแท้ ?

*ประชาชาติธุรกิจ

No comments:

Post a Comment