เช่นเดียวกับ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งนักวิเคราะห์ทุกค่ายมองตรงกันว่า ปี 2553 จะปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการลงทุนในประเทศ ซึ่งในไตรมาส 1/53 กลุ่มธนาคารพาณิชย์ก็สะท้อนมุมมองดังกล่าว ด้วยการรายงานผลประกอบการอย่างโดดเด่น
จากการรวบรวมของศูนย์วิจัย กสิกรไทยระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 2.84 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.3% เทียบกับช่วงระยะเดียวกันปีก่อน(YoY) และ 18.3% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 11.4% YoY และ 4.8% QoQ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 23.4% YoY และ 0.1% QoQ ส่งผลให้รายได้หลักของธนาคาร (รายได้ดอกเบี้ย+รายได้ค่าธรรมเนียม) เพิ่มขึ้น 14.3% YoY และ 3.5% QoQ
อย่างไรก็ตาม แม้ไตรมาสแรกแต่ละแห่งจะแสดงผลประกอบการออกมาค่อนข้างดี แต่หลังเกิดเหตุความรุนแรงทางการเมือง ก็เริ่มเห็นสัญญาณของความไม่แน่นอน ว่ากลุ่มธุรกิจการเงินจะสามารถ ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องเพียงใด
ศูนย์ วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จะส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ ทั้งความต้องการสินเชื่อที่อาจชะลอลงกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลโดยตรงจากความไม่สงบ อาทิ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ส่วนสินเชื่อบุคคล ธนาคารพาณิชย์อาจเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้นในกลุ่มที่เป็นลูกจ้างใน อุตสาหกรรมและธุรกิจที่เผชิญกับความไม่แน่นอนของรายได้ ความเสี่ยงที่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าจะลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ความยืดหยุ่นของสภาพคล่องต่ำ
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ก็ได้แสดงความกังวลต่อปัญหาที่เกิดขึ้นว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้ คงพอเป็นแรงขับเคลื่อนของ 2-3 เดือนข้างหน้า แต่สภาพการเมืองที่เกิดความสูญเสียแล้ว ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค ขณะที่บางเรื่องยังคาดเดาไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อเพียงใด และรัฐบาลจะดูแลให้เหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติได้หรือไม่ หากยังยืดเยื้อ อาจสร้างผลกระทบต่อเนื่องถึงปีต่อไป โดยเฉพาะในส่วนการลงทุนใหม่
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ความไม่แน่นอนของหลายปัจจัยโดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ธนาคาร ไม่พิจารณาปรับเป้าการขยายสินเชื่อ แม้ไตรมาสแรกธนาคารจะสามารถขยายสินเชื่อสุทธิได้มากกว่า 7% หรือ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายของทั้งปี 2553
"ใน 7 หมื่นล้านบาท เป็นการขยายตัวของสินเชื่อทุกกลุ่ม ทั้งภาครัฐ รายใหญ่ เอสเอ็มอี และรายย่อย ก็เติบโตได้ดี สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนอีกมาก เราจึงต้องรอดูสถานการณ์ก่อนพิจารณาอีกครั้งในช่วงกลางปี" นายอภิศักดิ์กล่าว
ในส่วนของธนาคารทหารไทย ซึ่งเพิ่งผ่านการปรับโครงสร้างภายใน และตั้งใจจะใช้ปีนี้ที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว เป็นปีของการฟื้นตัวกลับมาของธนาคารอีกครั้ง แต่เมื่อเกิดความไม่สงบขึ้น ก็เริ่มมีความไม่แน่นอนทางธุรกิจเกิดขึ้น
โดย นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ยังไม่มีการทบทวนเป้าหมายธุรกิจในตอนนี้ ต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดย ณ ตอนนี้ ไม่สามารถประเมินได้เลยว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของธนาคารเพียงใด แต่ยังหวังว่าสินเชื่อที่มาจากภาคการส่งออกกำลังเติบโตได้ดีจากการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจโลก จะเข้ามาทดแทนการชะลอตัวลงของสินเชื่อภาคอื่น ๆ
ขณะ ที่ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ประเมินหลังเห็นผลประกอบการไตรมาสแรกของกลุ่มธนาคาร พาณิชย์แล้วว่า ช่วงที่เหลือปีนี้ ธุรกิจกลุ่มนี้อาจไม่ได้สดใสอย่างที่คาด
นาย ธนัท รังษีธนานนท์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์กรุงศรี อยุธยา ประเมินว่า ไตรมาส 2/53 ผลดำเนินงานของกลุ่มจะยังขยายตัวได้ท่ามกลางปัญหาการเมือง แต่หากการชุมนุม ยืดเยื้อจะฉุดรั้งการเติบโตโดยรวมเนื่องจากการใช้จ่ายและลงทุนของเอกชนจะลด ลง
ขณะที่หากรัฐบาลขาดเสถียรภาพ จะทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขาดประสิทธิภาพและความต่อเนื่อง ทำให้สินเชื่อทั้งปี อาจต่ำกว่าที่ทางบริษัทประเมินไว้ที่ 5.9% นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับคุณภาพสินเชื่อที่อาจลดลง พร้อมกับความเสี่ยงที่ต้นทุนทางการเงินจะสูงขึ้น หากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับลดความน่าเชื่อถือของประเทศและกลุ่ม ลง
แม้จะยังไม่ทันปรับเป้าหมายธุรกิจกันในตอนนี้ แต่ประสบการณ์วิกฤตการเงินโลกในปีที่แล้ว คงทำให้ธนาคารทุกแห่งเตรียมแผนตั้งรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันไว้เรียบร้อย และหากเหตุการณ์ยังยืดเยื้อ คงต้องทำใจว่า "ปีนี้อาจจะไม่ใช่ปีที่กลับมาบุกกันอีกรอบอย่างที่หวัง"
ประชาชาติธุรกิจ
No comments:
Post a Comment