Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพคนหนุ่มสาวนับพันที่อาสาออกมาร่วมแรงร่วมใจ เก็บกวาดถนนย่านแยกราชประสงค์ ในวัน "Big Cleaning Day" เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา สร้างความประทับใจให้คนไทยอย่างมาก และกิจกรรมนี้ "โซเชียล มีเดีย" ก็มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จ
หลังจากการชุมนุมที่ยืดเยื้อกว่า 2 เดือน สิ้นสุดลงในวันที่ 19 พ.ค. 2553 ตามด้วยความรุนแรง ทิ้งไว้ซึ่งความเสียหายแก่กรุงเทพฯ จากขยะที่ผู้ชุมนุมทิ้งไว้ และร่องรอยการปักหลักต่อสู้ กับเจ้าหน้าที่รัฐบาล การเผาเมือง ทำลายอาคาร ห้างร้าน กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงได้จัดโครงการ "ร่วมสร้างกรุงเทพฯ รวมกันเราทำได้" (Together We Can) โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชน มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูด้วย
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า กทม.จะดำเนินการฟื้นฟูภาพลักษณ์มหานครยิ่งใหญ่ ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มให้กลับคืนมาอีกครั้ง โดยอยากให้คนไทยทุกคนให้อภัยและมองไปข้างหน้า ให้ประเทศไทยก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง
กิจกรรมแรก การทำความสะอาดครั้งใหญ่ ในพื้นที่ชุมนุม และพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายทุกแห่ง หลังจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ส่งมอบพื้นที่ให้กรุงเทพมหานคร จากนั้น ในวันที่ 26 พ.ค. จะจัดศาสนพิธีฟื้นฟูเมือง โดยกรุงเทพมหานครจะร่วมกับประชาคม ผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ และประชาชนชาวกรุงเทพฯ จัดทำบุญครั้งใหญ่ เพื่อความเป็นสิริมงคล และฟื้นฟูจิตใจของพี่น้องประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ จะมีพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 1,000 รูป ตั้งแต่ถนนราชดำริ-ถนนพระรามที่ 1 และพิธีทำบุญ 5 ศาสนา ประกอบด้วย ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู (พราหมณ์) และซิกข์ ตั้งแต่เวลา 06.30 น. ณ ลานหน้าพระราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี
พลังเครือข่ายที่ว่านี้ ใน Facebook มีการตั้งกลุ่ม BIG CLEANING DAY OF THAILAND ขึ้น มีสมาชิกเป็นเด็กวัยรุ่น 1,110 คน บริหารโดยนักศึกษากลุ่มเล็กๆ จากรั้วธรรมศาสตร์ รวมกลุ่มกันกระจายข่าว งานจิตอาสาเพื่อคืนความสุขให้สังคม มีการเชิญชวนกันปากต่อปาก มีการพูดคุยกันในวงกว้าง เชิญชวนเพื่อนฝูงจากต่างจังหวัดมาร่วมกิจกรรม หลังจบกิจกรรม ก็นำรูปภาพที่แต่ละคนได้ไปมีส่วนร่วมมาโพสต์ ลงเฟซบุ๊คแล้วแชร์กัน บรรยากาศในการพูดคุยเต็มไปด้วยความประทับใจ เป็นแง่มุมดีๆ หลังจากบริโภคข่าวสารที่น่าวิตก และตึงเครียดในเฟซบุ๊คมานานนับเดือน
พลังของเฟซบุ๊ค เป็นพลังของคนในสังคมที่มาจากเครือข่ายโดยแท้ จากนั้นรัฐบาล และสื่อกระแสหลัก ได้เห็นศักยภาพจากหลายๆ เหตุการณ์ ที่มีจุดเริ่มต้นจากเฟซบุ๊ค ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวกัน ของคนเสื้อหลากสี และการสืบเสาะเรื่องราวต่างๆ ที่ส่งต่อกันเป็นเครือข่าย กลายเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม และทิศทางการนำเสนอข่าว
จากเวทีเสวนา ที่จัดโดยชมรมนักข่าวสายไอที ในหัวข้อ "จริยธรรมสื่อกับการใช้ Social Media" เมื่อเร็วนี้ๆ มีการเปิดเผยด้วยว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที มีแบล็คลิสต์ของ Twitter ถึงกว่า 3,000 ราย และมีบางส่วนถูกบล็อก แสดงว่ารัฐบาลเห็นศักยภาพของ Social Media ว่า มีทั้งคุณและโทษ
ขณะเดียวกัน "ศอฉ." ก็ใช้ประโยชน์จากเฟซบุ๊ค ในการอธิบายถึงวิธีการปฏิบัติงาน และสร้างความชอบธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ ลดเครดิตของผู้ชุมนุมในเรื่องการใช้อาวุธและก่อการร้าย และที่เรียกคะแนนให้กับ ศอฉ.อย่างมาก คือ การนำ คลิปวีดิโอ ที่แชร์กันในเฟซบุ๊คมาแถลงข่าว และเผยแพร่ทางฟรีทีวีทุกช่อง ปรากฏภาพผู้ชุมนุมย่านบ่อนไก่ ชูเด็กวัยประมาณขวบเศษ ขึ้นเหนือบังเกอร์กองยาง เป็นโล่มนุษย์ที่ใครได้ดูก็เกิดความรันทด
แต่ ศอฉ.ก็โดนถล่มไม่น้อย กับการนำรูปภาพสภาพการควบคุมตัวแกนนำ คนเสื้อแดงมาเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค หลังจากที่โดนตำหนิเรื่องภาพหลุดการพักผ่อนสบายอารมณ์ของแกนนำ ในบ้านพักตากอากาศ และมีเหล่าแฟนคลับเข้าเยี่ยม ถ่ายรูปกันเฮฮา แต่รูปที่นำมาโพสต์แก้ตัว กลับถูกคนในเฟซบุ๊คตั้งข้อสงสัยและแฉ ว่า เป็นการจัดฉาก สร้างความโกรธแค้นให้คนในเฟซบุ๊ค อีกเช่นกัน จนกระทั่งต้องนำทัพนักข่าวไปดูห้องขังจริง
อีกครั้งที่สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมาก เมื่อมีการโพสต์รูปภาพของ "ทักษิณ ชินวัตร" ว่ายังไม่ตาย แต่ไม่ได้วีดิโอลิงค์มายังเวทีคนเสื้อแดงในช่วงที่การชุมนุมตึงเครียดมาก เพราะต้องเดินทางรอบโลกอยู่ตลอดเวลา แต่ผลที่ได้กลับตรงข้าม เมื่อมีการออกมาตั้งข้อสังเกตกันในเฟซบุ๊ค ว่า อาจจะเป็นรูปภาพที่ตัดต่อ และตัดต่อได้แบบไม่เนียนมากที่สุด และมีการตัดต่อซ้ำ พาทักษิณไปยังที่ต่างๆ ในนรกก็มี แชร์กันไปมาเป็นที่สนุกสนาน ลดเครดิตทักษิณ ในโซเชียล มีเดีย ลงไปไม่น้อยเช่นกัน
แสดงให้เห็นถึงพลังของโซเชียล มีเดีย ว่า มีคนคอยตรวจสอบและจับผิด คนที่สร้างความเสียหายให้บ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา ก่อนที่คนดัง นักการเมืองหรือคนในข่าว คิดจะพูดอะไรให้ตระหนักให้มาก เพราะคนในโซเชียล มีเดีย มีทุกอาชีพ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์กราฟฟิก แพทย์ นักกฎหมาย อาจารย์มหาวิทยาลัย นักภาษาศาสตร์ และที่สำคัญ ทุกคนในสังคมออนไลน์ ล้วนเป็นนักประวัติศาสตร์ ที่จะนำอดีตที่นักการเมืองหรือคนดังเคยทำ เคยพูดไว้ในสื่อต่างๆ แล้วถูกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์หรือเว็บไซต์ต่างๆ ออกมาแฉ และทวงถาม ถึงสิ่งที่คนเหล่านี้ได้กระทำต่อบ้านเมือง
พลังโซเชียล มีเดีย อีกเช่นกัน ที่ทำให้ "พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด" โฆษก ศอฉ. โด่งดังได้อย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยลีลาการแถลงข่าวและตอบคำถามฉะฉาน ชัดเจน ตรงเป้าเข้าประเด็น ทำให้มีแม่ยกรวมตัวกันเป็นแฟนคลับ ในเฟซบุ๊ค มีคนไปขุดเอาภาพสวีทกับหวานใจมาแชร์ แล้วคอมเมนท์กันสนุกสนาน ประมาณว่า ตาร้อนผ่าว อกหักไปตามๆ กัน
แต่โทษของเฟซบุ๊คก็มีเช่นกัน มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนรวมทั้งนักข่าวแย่งกันรวดเร็วในการส่งข่าว ขาดการตรวจสอบ และสอบถามความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย เหมือนที่เราเคยทำกันมาในสื่อแบบดั้งเดิม ที่นักข่าวส่งข่าวเข้ามา ยังมีบรรณาธิการคอยควบคุมดูแลความถูกต้อง และการใช้ภาษา ต่างจากในโซเชียล มีเดีย ที่มีคนมากมายคอยช่วยตรวจสอบจับผิด และสื่อมวลชน ไม่สามารถนิ่งเฉยได้ เมื่อมีความผิดพลาด หรือลงข้อความเล็กๆ ขอโทษในมุมหนึ่งของหนังสือพิมพ์อย่างที่ผ่านมา
ในโซเชียล มีเดีย เมื่อสื่อมวลชน หรือใครก็ตามรายงานข่าวสารผิดพลาด เมื่อพบว่าผู้ท้วงติงต้องรีบตรวจสอบ และหากผิดจริงต้องทำการขอโทษทันที เพราะจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือ ซึ่งการขอโทษไม่ใช่เรื่องเสียหาย นอกจากได้แสดงความรับผิดชอบแล้ว ยังสามารถชี้แจงความผิดพลาด และหาลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติมมาใช้อธิบายข่าวสาร ได้เพิ่มพูนความรู้ ทั้งกับคนในสังคมออนไลน์ และตัวสื่อมวลชนเองด้วย
"มีคนจำนวนมากเข้าใจว่าเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์เป็นเรื่องส่วนตัว เพราะว่าเลือกแอด เพื่อน หรือตามเพื่อนตนเองเท่านั้น แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะสังคมออนไลน์มีความเป็นเครือข่าย ข้อความ รูปภาพ หรือวีดิโอที่โพสต์ขึ้นไปนั้น อาจถูกแชร์หรือคัดลอกไปยังเพื่อนของเพื่อนอีกที แล้วถูกนำไปใช้ได้ทั้งในทางดี และทางเสียต่อเจ้าของข่าวสารนั้นๆ" นายมานะกล่าว
พรหมมินทร์ งามจั่นศรี
No comments:
Post a Comment